รายปี 2565

ส่วนที่ 2 รายละเอียดการเปิดเผยข้อมูล

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ ด้านการประกันชีวิตมาตลอด 74 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใส ด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บริษัทเชื่อและเข้าใจในคุณค่าความรัก ความห่วงใยในอนาคต คนที่คุณรัก ทำให้เกิดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นใจว่าคนที่รักจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/about-oceanlife

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าบริษัทประกันชีวิตเป็นสถาบันการเงิน ที่ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ถือกรมธรรม์ และผู้รับผลประโยชน์ของผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นในจริยธรรม และหลักบรรษัทภิบาล อย่างเคร่งครัด มุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจในมิติใหม่ๆ ให้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า ควบคู่กับการใช้พลังความรัก ส่งมอบสุขภาพที่ดี และสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับคนไทย

บริษัทเชื่อว่าสุขภาพที่ดีคือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รักและดูแลคนที่รักได้อย่างเต็มที่ บริษัทจึงเดินหน้าดูแลคนไทยโดยใช้พลังความรัก ส่งสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งกว่า ด้วยการสร้างนวัตกรรมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพและกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ด้วยหวังเห็นทุกคนมีรอยยิ้มและเต็มไปด้วยความสุขตลอดไป

บริษัทจึงกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกัน และให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา ดังนี้

วิสัยทัศน์ (Vision)
“มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

พันธกิจ (Mission)

  • เราคือมืออาชีพ ที่มีลูกค้าอยู่ในหัวใจเสมอ
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือมืออาชีพที่พร้อมเป็นที่ปรึกษา แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คิดค้นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงความสุขและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ
  • เราคือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เหนือความคาดหมาย
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมที่ทำให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย ทั้งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการให้เกิน ความคาดหมายของลูกค้า
  • เรายึดมั่นในคุณธรรม เชื่อถือได้ในคำสัญญา
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ
  • เราเชื่อในคุณค่า และพลังของความรัก
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าพลังความรัก โดยใช้ความรักในอาชีพ รักเพื่อนร่วมงาน รักลูกค้า เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การทำงาน เพื่อส่งมอบคุณค่าความรักนี้ให้กับทุกคน
  • เราใส่ใจดูแลสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งตามความเชี่ยวชาญ ศักยภาพและขีดความสามารที่เรามี

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ
OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ขับเคลื่อนองค์กรด้วยพลังความรัก เราจึงใช้ความรักเป็นหัวใจหลักสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเติบโต ด้วยความใส่ใจดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ความยั่งยืนจากรัก เกิดขึ้นได้ด้วย 3 หัวใจหลัก คือ

  • Health : สุขภาพที่ยั่งยืน ด้วยการรักที่จะดูแลสุขภาพตนเองและคนที่รัก ให้แข็งแรงมีภูมิต้านทาน
  • Wealth : การเงินที่ยั่งยืน ด้วยการรักการออมและวางแผนการเงิน ให้มีความมั่นคงพร้อมรับมือวิกฤต
  • World : สังคมและโลกที่ยั่งยืน ด้วยการรักษ์โลก ดูแลสังคมตามแนวทาง ESG เพื่อส่งมอบอนาคตให้คนรุ่นต่อไป

ในปี 2565 บริษัทยังคงเดินหน้าต่อยอดสโลแกน “รักคือพลังของชีวิต” สู่แนวคิด Love Mindset เพื่อสนับสนุนให้คนไทยพร้อมรับมือทุกความไม่แน่นอนของชีวิต ในขณะเดียวกันได้ใช้พลังความรัก สร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เอาชนะความท้าทายต่างๆและมีความพร้อมในการดูแลลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมครบวงจร นอกจากนั้นบริษัทยังมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการด้วยความรอบคอบและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน

จากการที่วิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤต COVID-19 นำไปสู่  เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ที่เปิดรับเทคโนโลยีบริการดิจิทัล รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ดังนั้น Ocean Life ไทยสมุทรประกันชีวิต จึงได้ส่งนวัตกรรมการบริการต่างๆเพื่อช่วยทำให้การใช้ชีวิตของลูกค้าเป็นเรื่องง่าย สะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังปลอดภัยจากการสัมผัสกับโรคติดต่ออีกด้วย โดยในปี 2565 บริษัทมีนวัตกรรมการบริการที่โดดเด่น รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/about-oceanlife/annual-report

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ด้านประกันชีวิต
บริษัทมีการให้บริการลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประเภทสามัญ อุตสาหกรรม อุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ อาทิ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ  การคุ้มครองโรคมะเร็ง การคุ้มครองโรคร้ายแรง สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย โดยมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงิน ช่องทางองค์กร ช่องทางอินเตอร์เน็ต และนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง

ด้านลงทุน
บริษัทดำเนินธุรกิจโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่

  1. ตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน บริษัทได้ลงทุนโดยเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับตราสารที่เป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทได้มีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้
  2. ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ บริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินไม่มากนักและให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ดี
  3. การให้สินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น
    3.1 การให้กู้ยืมโดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน เป็นการให้กู้ยืมเงินกับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตกับบริษัทโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งออกโดยบริษัทเป็นประกัน
    3.2 การให้สินเชื่อโดยมีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน
    สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ศูนย์การค้า อุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยลูกค้าสามารถเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองการทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/our-products

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.5.1 ขั้นตอน ระยะเวลา เอกสาร และวิธีการในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์(เงินทรงชีพ/เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานใหญ่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชั้น G อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2207-8888 หรือสำนักงานสาขาทั้ง 133 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบการดำเนินการเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด กรณีที่ลูกค้าใช้สิทธิ์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล              ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และรับการรักษาที่สถานพยาบาลเครือข่ายของบริษัทตามรายชื่อสถานพยาบาลที่แสดงบนเว็บไซต์ของบริษัท

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/service/downloads/manual

1.5.2 วิธีการติดต่อบริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อพิพาทหรือเรื่องร้องเรียน
เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่เบอร์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 133 สาขา หรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต ทั้ง 18 แห่ง

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/contact

สำหรับช่องทางการติดต่อกับบริษัทกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อร้องเรียน ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทได้หลายช่องทางตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการติดต่อผ่านเว็บไซต์ของบริษัท

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/contact

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลจรรยาบรรณ และการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ความโปร่งใส ในการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน โดยสุจริตภายใต้กฎเกณฑ์ของภาครัฐ มีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ การควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม และพัฒนาให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของธุรกิจประกันชีวิต บริษัทกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนยึดมั่นและปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายข้อกำหนดของทางการ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยบริษัทได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีดังนี้

การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ขายประกัน ลูกค้า ลูกหนี้ คู่ค้า เจ้าหนี้  คู่แข่งทางการค้า หน่วยงานของรัฐ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเท่าเทียมยุติธรรม และได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการสำหรับบริษัทเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทรวมถึงช่วยให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
บริษัทกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ มีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรแต่ละคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการชุดย่อย
บริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ จัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ จัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริม การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแล และกลั่นกรองเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการสินเชื่อ คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรแต่ละคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยให้หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท ไม่ว่าจะเกิดจากการติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องทางการค้าของบริษัท หรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการหาประโยชน์ส่วนตน และต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์ หรือรายการเกี่ยวโยงที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

นอกจากนี้รายการที่เกี่ยวโยงกันต้องกระทำอย่างโปร่งใสเป็นไปตามปกติธุรกิจการค้า เสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับบุคคลทั่วไป โดยมุ่งประโยชน์ต่อบริษัทเป็นหลัก กรณีที่มีรายการที่เกี่ยวโยงซึ่งมีลักษณะและขนาดของรายการไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการชุดย่อยที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท รายการดังกล่าวต้องผ่านการสอบทานและให้ความเห็นจากคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ ก่อนนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ กรณีที่กรรมการตรวจสอบและกำกับหรือกรรมการบริษัทท่านใดมีส่วนได้เสียในรายการที่เกี่ยวโยง กรรมการตรวจสอบและกำกับ หรือกรรมการบริษัทท่านนั้นจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณารายการเกี่ยวโยงนั้น

การจ่ายค่าตอบแทน
การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดี โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกันประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้ง โบนัสและสิทธิประโยชน์อื่น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป  คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจนเหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

สำหรับค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหาร และพนักงานก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ในระดับเดียวกันและเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ และเพียงพอที่จะจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ได้ ทั้งนี้การพิจารณากำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคลโดยนำผลที่ได้มาเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและการจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการประเมินผลปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และการควบคุมภายใน
คณะกรรมการบริษัท กำกับดูแลให้บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบ ระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เพียงพอ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และดูแลให้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี รวมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง โดยกำหนดให้มีการจัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยง รวมถึงกระบวนการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยขั้นตอนหลัก คือ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การติดตามและควบคุมความเสี่ยง และการรายงานความเสี่ยง รวมทั้งการทบทวนความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยงและประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ

การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน มีการจัดตั้งสำนักกำกับ เพื่อระบุ ประเมิน แนะนำ ติดตาม การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อพึงปฏิบัติและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทั้งที่บังคับใช้ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การควบคุมภายใน
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดให้มีและรักษาไว้ซึ่งระบบการควบคุมภายใน การควบคุมภายในจะครอบคลุมถึง การควบคุมทางการเงิน การดำเนินงาน การกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการบริหารความเสี่ยง

การเปิดเผยข้อมูล
บริษัทยึดหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทันกาลและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมความเสมอภาคแก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลทางการเงินและมิใช่ข้อมูลทางการเงินผ่านหลายช่องทางทั้งในรูปแบบรายงาน เอกสารการขาย สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ โดยถือปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่สนใจอื่นๆ สามารถสืบค้นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว บริษัทได้นำเสนอข้อมูลสำคัญต่างๆลงในเว็บไซต์บริษัท ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ) เช่น ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้องพิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต กระบวนการควบคุมภายในของบริษัท การลงทุนของบริษัท ผลการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ความเพียงพอของเงินกองทุน งบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัทยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรมและตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย โดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ จึงจัดให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ มอบหมายให้ ฝ่ายบริหารจัดโครงสร้างองค์กรของบริษัทให้เหมาะสม กำหนดความรับผิดชอบของบุคลากร จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งเสริมให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่ปราศจากการทุจริตหรือคอร์รัปชัน ตลอดจนจัดช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียที่พบเห็นการกระทำผิด ทุจริตหรือคอร์รัปชันสามารถรายงานเบาะแส และกำหนดกระบวนการสอบสวนลงโทษตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดให้มีการสอบทานขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ธุรกิจ และรักษาชื่อเสียงของบริษัทรวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย

 บริษัทได้ประกาศนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานหรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามนโยบายอย่างทั่วถึงกัน

การรายงานเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
บริษัทจัดให้มีมาตรการในการรายงานเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในบริษัท  และมีกลไกในการคุ้มครองผู้รายงานเบาะแสโดยมุ่งหวังให้พนักงานหรือบุคคลใดที่มีเบาะแสการกระทำผิดหรือการทุจริต คอร์รัปชัน หรือมีข้อสงสัยว่าจะมีการกระทำใดๆที่ฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบปฏิบัติ กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท สามารถรายงานมาที่บริษัทตามช่องทางที่บริษัทกำหนดไว้ บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังและโปร่งใสเป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อมูลที่ได้รับรายงาน และแจ้งผลให้ผู้รายงานเบาะแสทราบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรก็ตามทั้งนี้บริษัทจะรักษาความลับของผู้รายงานเบาะแสรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นความลับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมายโดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รายงานโดยเจตนาสุจริตแต่อย่างใด

ด้านสิทธิมนุษยชน
บริษัทให้ความสำคัญต่อการเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ รวมถึงไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิใดๆ ของบุคคลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้อิสระกับบุคลากรภายในบริษัทในการแสดงสิทธิและเสรีภาพเท่าที่ไม่ไปขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

การส่งเสริมความยั่งยืน
บริษัทกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาความอย่างยั่งยืนครอบคลุมกระบวนการทำงานอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ โดยตระหนักถึงโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดต่อธุรกิจ  สังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and  Governance : ESG ) และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

บริษัทมุ่งหมายที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนครอบคลุม มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ผลักดัน และปฎิบัติตามนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำหนด อีกทั้งสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ นำนโยบายดังกล่าวไปประยุกต์และปรับใช้ในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน โดยโครงสร้างองค์กรของบริษัทปัจจุบัน เป็นดังนี้

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบ และจำนวนกรรมการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารงานของบริษัทฯ โดยเป็นผู้กำหนดนโยบาย กลไกการบริหารงาน และระบบการกำกับดูแล เพื่อให้ภารกิจของบริษัทฯ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งอยู่ในแนวทางที่ผู้ถือหุ้นเห็นชอบถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท เพื่อพิทักษ์สิทธิ ลดความเสี่ยงและดูแลผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้คณะกรรมการทุกท่านมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายบริหารบรรลุตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง เที่ยงธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ บริษัท มีการจัดตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและควบคุมให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงภายใต้กรอบที่เหมาะสม

คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการ 10 ท่าน มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ความชำนาญในแขนงอื่นๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/about-oceanlife

นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบาย   ที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท  และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างถูกต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหาร  ของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/about-oceanlife

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย
คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ การจัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะกรรมการสินเชื่อ

คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

  • คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับประกอบด้วย
    1. นางดัยนา บุนนาค                     ประธานกรรมการ
    2. รศ.จารุพร ไวยนันท์                   กรรมการ
    3. นางวัลลภา อัสสกุล                   กรรมการ

มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การสอบทานการดำเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอบทานรายงาน ทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายในโดยการหารือและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีของบริษัท สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยง

  • คณะกรรมการความเสี่ยงประกอบด้วย
    1. นายกีรติ อัสสกุล
    2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    3. นายยาสุฮิโระ คุโบตะ
    4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    ประธานกรรมการ                
    กรรมการ                
    กรรมการ                
    กรรมการ                
    กรรมการ
    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ครอบคลุมและรองรับกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมาตรฐานใหม่ๆ ของภาครัฐ กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง โดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตามประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและวิธีจัดการความเสี่ยง ตลอดจนความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ กลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนประกอบด้วย
    1. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
    2. นายกีรติ อัสสกุล
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. รศ.จารุพร ไวยนันท์
    5. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กำหนดแนวทางพัฒนา และติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การบริหารของบริษัทมีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน
  • คณะกรรมการลงทุนประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ 
    2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล
    5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล
    6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล
    7. นายบิง จันทร์ชู
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุน และการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท ที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลการลงทุน และการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาลความโปร่งใสและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท บริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

  • คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วย

    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์
    3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    4. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ 

    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่าย การซื้อ หรือการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้มาหรือเสียไปของอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาอนุมัติการซื้อการขายรวมถึงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

  • คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. นางสาวทัศนีย์ ธรรมพิพิธ
    5. นางบังอร สาธิตคณิตกุล
    6. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    7. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    8. นางสาววันเพ็ญ เกตุชาญชัย
    9. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ
    10. นายสุจิตร วงษ์ภูเย็น
    11. นายพีรพงษ์ จิตจาตุรันต์
    12. นายสานิตย์ สนิทนาน
    ประธานกรรมการ
    รองประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท กำหนดแผนการออกผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท กำกับดูแลให้การดำเนินงานของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมายทางการเงินและแผนงานที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด กำกับดูแลให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้

  • คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วย

    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. ดร.สมชาย ธรรมศิริทรัพย์
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์
    5. นางบังอร สาธิตคณิตกุล
    6. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    7. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ
    8. นางสาวสุรัสวดี ศิลปวัฒนสกุล
    9. นายพีรพงษ์ จิตจาตุรันต์
    10. นายสานิตย์ สนิทนาน
    11. นายปวีณ เสรีเสถียร

    ประธานกรรมการ
    ที่ปรึกษา
    ที่ปรึกษา
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

    มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมทั้งความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และกำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

  • คณะกรรมการสินเชื่อประกอบด้วย

    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. นางวัลลภา อัสสกุล
    3. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์
    4. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    5. นายอรุณพร ตันวัฒนกุล
    6. นายสุชาติ ดิลกวัฒนวัฒน์
    7. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ

    ประธานกรรมการ
    ที่ปรึกษา
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

    มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำกับดูแลการลงทุนด้านสินเชื่อเกี่ยวกับการให้กู้ยืม ให้เช่าซื้อรถ รับอาวัลตั๋วเงิน และออกหนังสือค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโครงการต่างๆของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนด้านสินเชื่อ กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์การลงทุนด้านสินเชื่อเกี่ยวกับการให้กู้ยืม ให้เช่าซื้อรถ รับอาวัลตั๋วเงิน และออกหนังสือค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโครงการต่างๆ พิจารณาและอนุมัติการลงทุนด้านสินเชื่อเกี่ยวกับการให้กู้ยืม ให้เช่าซื้อรถ รับอาวัลตั๋วเงิน และออกหนังสือค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโครงการต่างๆเงื่อนไขการประนอมหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ ตามระดับของอำนาจดำเนินการที่บริษัทกำหนดไว้

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร
การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการโดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพอ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)
การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลการดำเนินงานของบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนสรุปโดยรวมได้ดังนี้

การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกรรมการ  กรรมการชุดย่อย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ

  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกันประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์อื่น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ  โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจน เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

ค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ดังนี้

  • ค่าตอบแทนประจำได้แก่ เงินเดือนเงิน ประจำตำแหน่ง กำหนดโดยอิงตามบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ความรับผิดชอบ ความซับซ้อนของงานและสภาวะการณ์ของตลาด
  • โบนัสประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน กำหนดโดยอ้างอิงผลการดำเนินการของบริษัท เพื่อเป็นการ จูงใจและให้รางวัลพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด สะท้อนให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงานของระดับหน่วยงานและระดับบุคคล
  • บริษัทกำหนดให้มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคล โดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและ      การจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • ค่าตอบแทนอื่น ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาล  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  การประกันชีวิตกลุ่ม  และสวัสดิการอื่นๆ  บริษัทได้มีการดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้แก่พนักงานอย่างเหมาะสม โดยจัดให้มีการทบทวนสวัสดิการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญได้แก่ การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานและผู้บริหารที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยง โดยกำหนดให้พนักงานและผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงกำกับดูแลให้พนักงานมีการบริหารจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้บริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

บริษัทมีการติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและในประเทศเช่น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทและจัดทำแผนเพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ  บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารความเสี่ยง เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) ความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset & Liability Management risk) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเสี่ยงด้านโรคระบาด (Pandemic risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) สำหรับใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสี่ยง

บริษัทมีการทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี และได้มีการสื่อสารกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และมีการดำเนินการตามกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

3.2 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management :ALM)
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนและกรอบนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนการลงทุนของบริษัท ความเสี่ยง กลยุทธ์ของบริษัท และแนวโน้มสภาวะตลาดมีการจัดทำ Liquidity Stress Test ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 99.5% เพื่อประเมินความเพียงพอทางด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap, Spread Risk, Cashflow Matching and Duration Matching (Matching bonds product) เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท การบริหารจัดการประกันภัยต่อ ความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัย และการกระจุกตัวของภัย
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ หรือความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงของบริษัท โดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

บริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยมีการจัดทำกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ (Reinsurance Management Framework) ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารการประกันภัยต่อตามมาตรฐานสากลและที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริหารการประกันภัยต่อเหมาะสมกับขนาด ลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท โดยในเนื้อหากรอบการบริหารการประกันภัยต่อดังกล่าว ประกอบด้วย

  • โครงสร้างการบริหารการประกันภัยต่อ
  • โยบายการประกันภัยต่อและกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ
    : กระบวนการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายเงินกองทุน
    : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน
    : การทดสอบสภาวะวิกฤต
    : กระบวนการติดตามดูแลประสิทธิภาพการประกันภัยต่อและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
    : การทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยการกําหนดหลักเกณฑ์ในการรับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ (Aggregate Risk Limit)โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนเงินกองทุนของบริษัท จำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามสัญญาประกันภัยต่อ การส่งประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งราย เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับประกันภัยต่อ รวมทั้งการทดสอบสภาวะวิกฤตที่มีผลความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

อีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของภาครัฐ

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย

5.1 การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว

5.1.1 การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาวตามราคาบัญชี
บริษัทใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (Net Premium Valuation : NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตรามรณะ(Mortality), อัตราการขาดอายุ (Lapse), และอัตราการเวนคืน (Surrender) แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาว (Liability Adequacy Test : LAT) ตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation: GPV) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า LAT-GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)

5.1.2 การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาวตามราคาประเมิน
บริษัทใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (GPV) โดยใช้สมมติฐานที่เป็นค่าประมาณการที่ดีที่สุด (best-estimate assumptions) ของภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยก่อนเอาประกันภัยต่อโดยรวมถึงค่าเผื่อความผันผวน (Provision of Adverse Deviations: PADs) ซึ่งเป็นไปตามที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด

5.2 การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะสั้น

การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะสั้นตามราคาบัญชีและราคาประเมิน

การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะสั้นตามราคาบัญชีและราคาประเมินประกอบด้วยมูลค่าของสำรองเบี้ยประกันภัย และ มูลค่าของสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย

การกำหนดมูลค่าสำรองเบี้ยประกันภัย บริษัทสำรองเบี้ยประกันภัยจากมูลค่าที่มากกว่าระหว่างสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ (Unearned Premium Reserve : UPR) และสำรองสำหรับความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด (Unexpired Risk Reserve : URR) โดยรวมถึงค่าเผื่อความผันผวนซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสมมติฐานที่เป็นค่าประมาณการที่ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ามูลค่าภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยเพียงพอที่ระดับความเชื่อมั่นตามสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด

ในส่วนของการกำหนดสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย บริษัทได้ใช้หลายวิธีการทางสถิติและทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในการจัดทำข้อสมมติที่หลากหลายรวมเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการประมาณการค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดตามแนวทางและเกณฑ์ที่ยอมรับในระดับสากลข้อสมมติที่ใช้ในการประมาณการของหนี้สินเกิดจากการศึกษาประสบการณ์จริงของบริษัท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผลลัพธ์ของประมาณการหนี้สินเพียงพอและครอบคลุมหนี้สินที่เกิดจากสัญญาประกันภัยเท่าที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลอย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนในการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับสินไหมทดแทนซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะมีผลแตกต่างกับหนี้สินที่ได้ตั้งอยู่เดิม

การประมาณการหนี้สินถูกจัดทำขึ้น ณ วันที่รายงาน สำหรับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าเกิดขึ้นของสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจนถึง ณ วันที่รายงานไม่ว่าจะได้รับรายงานหรือไม่ก็ตาม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนหักด้วยจำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลและกระบวนการสอบทานความสอดคล้องความถูกต้อง ความสมบูรณ์ของข้อมูล สมมติฐานรวมถึงการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ จากทั้งสำนักตรวจสอบและผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก

6. การลงทุนของบริษัท
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับ ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน

บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมินเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต

7. ผลการดําเนินงานของบริษัทประกันภัย รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงานในรอบปี 2565

ในปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปีจะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน แต่อาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก จนในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ COVID – 19 เป็นโรคประจำถิ่นส่งผลให้มาตรการต่าง ๆ ทางสังคมคลี่คลายลงและด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วของ OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทำให้บริษัทสามารถคงสถานะทางการเงินที่มั่นคง และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี

สินทรัพย์
ในปี 2565 OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิตรักษาความแข็งแกร่งของเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ด้วยสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ฯลฯ จำนวนเงินทั้งสิ้น 98,167 ล้านบาทลดลงจากปีก่อนในอัตราร้อยละ 1.49 หรือคิดเป็นเงินจำนวน 1,486 ล้านบาท

เงินสำรองประกันชีวิต
OCEAN LIFEไทยสมุทรประกันชีวิตได้จัดสรรเงินสำรองประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยไว้สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับตามระดับความเสี่ยง และคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย ซึ่งมีผลผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีเงินสำรองประกันชีวิต จำนวนเงินทั้งสิ้น 78,785 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 2,061 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69

การลงทุนของบริษัท
ในด้านนโยบายการลงทุนของ OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นการนำรายได้จากเบี้ยประกันที่ได้รับจากผู้ถือกรมธรรม์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีรายได้ที่แน่นอน ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนระยะยาวในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับกรมธรรม์ที่บริษัทเสนอขาย เน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท(Asset Liabilities Management : ALM) ในการจัดสรรเงินลงทุนจะคำนึงถึงความสอดคล้องและครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายผลประโยชน์ตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ โดยการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม การจัดสรร    การลงทุนจะกระจายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่ เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝากธนาคาร เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูงเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทมีผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 5.04

เบี้ยประกันชีวิต
ในปี 2565 จากการที่ OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต สามารถปรับปรุงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้ครอบคลุมครบในทุกมิติ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่ช่วยทำให้การเชื่อมต่อกับลูกค้าเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ สามารถส่งมอบความคุ้มครองได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตในระดับที่น่าพอใจ โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวนทั้งสิ้น 14,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 306 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 ซึ่งประกอบด้วยผลงานจากเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 1,883 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 14 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.74  เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 143 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.66 เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 159 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.02 หรือ 12 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป จำนวน 11,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 189 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.61โดยกรมธรรม์มีผลบังคับในปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,461,939 กรมธรรม์ และในจำนวนดังกล่าวเป็นกรมธรรม์รายใหม่จำนวน  170,344 กรมธรรม์ ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ร้อยละ 86

เงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์
ในปี 2565 OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ได้ส่งมอบความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าผู้เอาประกันชีวิตโดยมีเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์จำนวนเงิน 12,650 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 175 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40

 

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่มิได้คาดหมายจากการดำเนินธุรกิจโดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้มีการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤตจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่างๆ ประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ

9. งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินประจำปี 2565

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฎบนเว็บไซต์บริษัท https://www.ocean.co.th/about-oceanlife/financialreports

รายปี 2564

 

 

ส่วนที่ 2 รายละเอียดการเปิดเผยข้อมูล

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านการประกันชีวิตมาตลอด 73 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใส ด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย บริษัทเชื่อและเข้าใจในคุณค่าความรัก ความห่วงใยในอนาคต คนที่คุณรัก ทำให้เกิดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นใจว่าคนที่รักจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจในมิติใหม่ๆ ให้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับผลัตภัณฑ์และการบริการ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า ควบคู่กับการใช้พลังความรักส่งมอบสุขภาพที่ดี และสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับคนไทย บริษัทเชื่อว่าสุขภาพที่ดีคือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้ทำในสิ่งที่รักและดูแลคนที่รักได้อย่างเต็มที่ บริษัทจึงเดินหน้าดูแลคนไทยโดยใช้พลังความรัก ส่งสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งกว่า ด้วยการสร้างนวัตกรรมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพและกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ด้วยหวังเห็นทุกคนมีรอยยิ้มและเต็มไปด้วยความสุขตลอดไป

บริษัทจึงกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกัน และให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท

โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา ดังนี้

วิสัยทัศน์ (Vision)

“มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

 

พันธกิจ (Mission)

  • เราคือมืออาชีพ ที่มีลูกค้าอยู่ในหัวใจเสมอ
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือมืออาชีพที่พร้อมเป็นที่ปรึกษา แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คิดค้นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงความสุขและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ
  • เราคือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เหนือความคาดหมาย
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมที่ทำให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย ทั้งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการให้เกินความคาดหมายของลูกค้า
  • เรายึดมั่นในคุณธรรม เชื่อถือได้ในคำสัญญา
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ
  • เราเชื่อในคุณค่า และพลังของความรัก
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าพลังความรัก โดยใช้ความรักในอาชีพ รักเพื่อนร่วมงาน รักลูกค้า เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การทำงาน เพื่อส่งมอบคุณค่าความรักนี้ให้กับทุกคน
  • เราใส่ใจดูแลสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งตามความเชี่ยวชาญ ศักยภาพและขีดความสามารที่เรามี

 

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

   OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน พร้อมพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้สอดคล้องต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะวิกฤต บริษัทได้เร่งปรับเปลี่ยน (Transform) ในทุกองค์ประกอบเพื่อตอบรับกับโลกยุคใหม่ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยได้เล็งเห็นถึงโอกาสก้าวสู่การเป็นประกันชีวิตแห่งโลกดิจิทัล ด้วยการใช้พลังความรักขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด “LOVE MINDSET” เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านวิกฤตด้วยความรัก 3 ด้าน ประกอบด้วย

LOVE Your Health รักสุขภาพตัวเอง ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท พร้อมรับมือกับโรคภัยในอนาคต

LOVE Your Wealth รักการออมและวางแผนการเงิน พร้อมรับมือกับทุกวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอ

LOVE The World รักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สร้างความสุขที่ยั่งยืน

   ในการใช้บริการช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 บริษัทได้แสดงถึงศักยภาพในการให้บริการรูปแบบดิจิทัล (Digital Service) ครบวงจร เพื่อให้ลูกค้ารับบริการโดยไร้การสัมผัส ลดความเสี่ยงจาก COVID-19 และเพิ่มความสะดวกสบายด้วยบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย (Customer Journey) โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงาน และตัวแทนประกันชีวิตเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

โดยในปี 2564 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

 

ด้านประกันชีวิต

   บริษัทมีการให้บริการลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประเภทสามัญ อุตสาหกรรมอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) รวมถึงการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม การประกันชีวิตสำหรับข้าราชการและองค์กร และสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ อาทิ การคุ้มครองสุขภาพการคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย โดยมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงิน ช่องทางองค์กร ช่องทางอินเตอร์เน็ต และนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง

 

ด้านลงทุน

บริษัทดำเนินธุรกิจโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่

1. ตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน บริษัทได้ลงทุนโดยเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับตราสารที่เป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทได้มีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้

2. ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ บริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินไม่มากนักและให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ดี

3. การให้สินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น
    3.1 การให้กู้ยืมโดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน เป็นการให้กู้ยืมเงินกับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตกับบริษัทโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งออกโดยบริษัทเป็นประกัน
    3.2 การให้สินเชื่อโดยมีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน

สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยลูกค้าสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยลูกค้าสามารถเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว

 

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุการคุ้มครองการทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น โดยมีสำนักงานสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 143 สาขา และมีสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต 22 แห่ง ในด้านช่องทางการขายกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ บริษัทมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงิน ช่องทางองค์กร ช่องทางอินเตอร์เน็ต และนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง ในด้านช่องทางชำระเงิน บริษัทมีช่องทางชำระเงินให้ลูกค้าสามารถเลือกชำระเงินที่หลากหลาย อาทิ ผ่านตัวแทนประกันชีวิต ผ่านธนาคาร ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ ผ่านบัตรเครดิต  หรือเลือกชำระผ่านระบบหักบัญชีอัตโนมัติ (Direct Debit)

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.5.1 ขั้นตอน ระยะเวลา เอกสาร และวิธีการในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

   ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์ (เงินทรงชีพ/เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานใหญ่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชั้น G อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2207-8888 หรือสำนักงานสาขาทั้ง 143 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบการดำเนินการเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด กรณีที่ลูกค้าใช้สิทธิ์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และรับการรักษาที่สถานพยาบาลเครือข่ายของบริษัทตามรายชื่อสถานพยาบาลที่แสดงบนเว็บไซต์ของบริษัท
รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

1.5.2 วิธีการติดต่อบริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อพิพาทหรือเรื่องร้องเรียน

   เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่เบอร์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 143 สาขา หรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต ทั้ง 22 แห่ง
รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

   สำหรับช่องทางการติดต่อกับบริษัทกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อร้องเรียน ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทได้หลายช่องทางตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการติดต่อผ่านเว็บไซต์ของบริษัท
รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลคำนึงถึงความเป็นธรรม ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน ภายใต้กฎเกณฑ์ของภาครัฐ มีการกำหนดขอบเขต ความรับผิดชอบ และการควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม บริษัทจึงได้มีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีการทบทวนเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทได้รับการกำกับดูแลที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดยผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนยึดมั่นและปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายข้อกำหนดของทางการและมีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยบริษัทได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีดังนี้

ด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

   บริษัทกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสมโดยคณะกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรแต่ละคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

ด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์

   เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตระหนัก ยึดถือและนำไปปฏิบัติ หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทหรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์ หรือรายการเกี่ยวโยงที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

   บริษัทยึดมั่นต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี มีศีลธรรม จริยธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และคำนึงถึงสิทธิความเป็นธรรมสนองตอบความต้องการต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ขายประกัน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเท่าเทียมและความยุติธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัท รวมถึงช่วยให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

ด้านการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส รายงานทางการเงินและการดำเนินงาน

   บริษัทให้บริการประกันชีวิตโดยยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทันกาลและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความเสมอภาคแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เอาประกัน ตัวแทน พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า รวมทั้งสาธารณชน

     บริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลทางการเงินและมิใช่ข้อมูลทางการเงินผ่านหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบรายงาน เอกสารการขาย สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ โดยถือปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญอย่างเพียงพอในงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี กฎหมาย และข้อบังคับของทางการ โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

   บริษัทมีการตั้งหน่วยงานสื่อสารองค์กร สังกัดฝ่ายการตลาด รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อการตัดสินใจ

ด้านการบริหารความเสี่ยง

   บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดูแลให้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง เป็นไปตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก    การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญเช่นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท มีการกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยงมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง

   บริษัทมีคณะกรรมการความเสี่ยงกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงและมีการทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและกำกับดูแลให้บริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงโดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้

   บริษัทมีสำนักบริหารความเสี่ยง สนับสนุนฝ่ายงานให้มีความเข้าใจและสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอ หาวิธีการลดความเสี่ยง และสอบทานผลการประเมินความเสี่ยงที่ได้รับจากฝ่าย/สำนัก รวมถึงมีการติดตามความเสี่ยงของหน่วยงานต่างๆ และการนำมาตรการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ

   นอกจากนี้มีคณะบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในรับผิดชอบในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ พิจารณากลั่นกรองแนวทางการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมของบริษัทฯให้สอดคล้องกับกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

ด้านการควบคุมภายใน

   บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยใช้หลักการ Three Lines of Defense ในการบริหารความเสี่ยง การกำกับการปฏิบัติงาน และการควบคุมภายใน โดยได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลทรัพย์สิน ป้องกันการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือการทุจริต ลดความผิดพลาดเสียหาย และข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ

   บริษัทกำหนดนโยบายการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งเสริมระบบการควบคุมภายในให้เป็นกลไกสําคัญของกระบวนการกํากับดูแลการดําเนินกิจกรรมต่างๆ จัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ

   โดยกำหนดให้สำนักตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลของระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีสำนักกำกับ ทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางการ ระเบียบของบริษัทและหลักการควบคุมภายในที่ดีและมีสำนักบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีการบริหาร การติดตาม และการประเมินผลการบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

ด้านการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน

   บริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานทุกระดับโดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์และแผนงานประจำปีเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม

   นอกจากนี้บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ครอบคลุมรายงานทางการเงินและการดำเนินงานในด้านต่างๆ ในกรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้คณะกรรมการบริษัทจะมีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปรับปรุงแผนงานที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ด้านแผนสืบทอดตำแหน่ง

   บริษัทจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถ สืบทอดตำแหน่งที่สำคัญต่อไปในอนาคต

ด้านการแจ้งเบาะแส(Whistle Blowing)

   บริษัทจัดให้มีมาตรการในการรายงานเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในบริษัท  และมีกลไกในการคุ้มครองผู้รายงานเบาะแสโดยมุ่งหวังให้พนักงานหรือบุคคลใดที่มีเบาะแสการกระทำผิดหรือการทุจริตคอร์รัปชันหรือมีข้อสงสัยว่าจะมีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นที่ฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบปฏิบัติ กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท สามารถรายงานมาที่บริษัทตามช่องทางที่บริษัทกำหนดได้ บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังและโปร่งใสเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อมูลที่ได้รับรายงาน และแจ้งผลให้ผู้รายงานเบาะแสทราบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรก็ตามทั้งนี้บริษัทจะรักษาความลับของผู้รายงานเบาะแสรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นความลับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมายโดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รายงานโดยเจตนาสุจริตแต่อย่างใด

ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

   บริษัทยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ บริษัทต่อต้านการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยมีกระบวนการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดทำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเพื่อแสดงถึงทิศทางและกรอบการดำเนินงาน โดยนโยบายดังกล่าวบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนทุกคน

ด้านสิทธิมนุษยชน

   บริษัทให้ความสำคัญต่อการเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ รวมถึงไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิใดๆ ของบุคคลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ให้อิสระกับบุคลากรภายในบริษัทในการแสดงสิทธิและเสรีภาพเท่าที่ไม่ไปขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลอื่น

ด้านการส่งเสริมความยั่งยืน

   บริษัทกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาความอย่างยั่งยืน ครอบคลุมกระบวนการทำงานอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ โดยตระหนักถึงโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดต่อธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance : ESG ) และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

   บริษัทมุ่งหมาย ที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนครอบคลุม มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของบริษัท ทั้งนี้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ผลักดัน และปฏิบัติตามนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำหนด อีกทั้งสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ นำนโยบายดังกล่าวไปประยุกต์และปรับใช้ในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง

 

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน โดยโครงสร้างองค์กรของบริษัทปัจจุบัน เป็นดังนี้

 

 

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบและจำนวนกรรมการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการ ในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยคณะกรรมการมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสังเขป คือ มีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินกิจการของบริษัท กํากับดูแลการกําหนดนโยบาย ดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีระบบการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนด ภายใต้มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง และรอบคอบ และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย

   คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการ 10 ท่าน มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ความชำนาญในแขนงอื่นๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

   นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างถูกต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหาร  ของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต

รายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

 

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย

   คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ การจัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ และคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

  • คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับประกอบด้วย
    1. นางดัยนา บุนนาค
    2. รศ.จารุพร ไวยนันท์
    3. นางวัลลภา อัสสกุล
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การสอบทานการดำเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอบทานรายงาน ทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายในโดยการหารือและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีของบริษัท สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยง

  • คณะกรรมการความเสี่ยงประกอบด้วย
    1. นายกีรติ อัสสกุล
    2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    3. นายยาสุฮิโระ คุโบตะ
    4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ครอบคลุมและรองรับกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมาตรฐานใหม่ๆ ของภาครัฐ กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง โดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตามประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและวิธีจัดการความเสี่ยงตลอดจนความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ กลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนประกอบด้วย
    1. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    2. นายกีรติ อัสสกุล
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. รศ.จารุพร ไวยนันท์
    5. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กำหนดแนวทางพัฒนา และติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การบริหารของบริษัทมีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

  • คณะกรรมการลงทุนประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย
    3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล
    5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล
    6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล
    7. นายบิง จันทร์ชู
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุน และการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาลความโปร่งใสและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท บริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

  • คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์
    3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    4. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ
    ประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่ายการซื้อ หรือการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้มาหรือเสียไปของอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาอนุมัติการซื้อการขายรวมถึงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

  • คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. นางสาวทัศนีย์ ธรรมพิพิธ
    5. นางบังอร สาธิตคณิตกุล
    6. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช
    7. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    8. นางสาววันเพ็ญ เกตุชาญชัย
    9. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ
    10. นายสุจิตร วงษ์ภูเย็น
    11. นายพีรพงษ์ จิตจาตุรันต์
    12. นายสานิตย์ สนิทนาน
    ประธานกรรมการ
    รองประธานกรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท กำหนดแผนการออกผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท กำกับดูแลให้การดำเนินงานของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมายทางการเงินและแผนงานที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด กำกับดูแลให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้

  • คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วย
    1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์
    2. ดร.สมชาย ธรรมศิริทรัพย์
    3. นายสมาน ทิพยไกรศร
    4. นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์
    5. นางบังอร สาธิตคณิตกุล
    6. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย
    7. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ
    8. นางสาวสุรัสวดี ศิลปวัฒนสกุล
    9. นายพีรพงษ์ จิตจาตุรันต์
    10. นายสานิตย์ สนิทนาน
    11. นายปวีณ เสรีเสถียร
    ประธานกรรมการ
    ที่ปรึกษา
    ที่ปรึกษา
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ
    กรรมการ

   มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมทั้งความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และกำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร

การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลรวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพออันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

 

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)

การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลการดำเนินงานของบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนสรุปโดยรวมได้ดังนี้

การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกรรมการ  กรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ

  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน  เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกันประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์อื่น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ  โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจน เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

ค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ดังนี้

  • ค่าตอบแทนประจำ ได้แก่ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กำหนดโดยอิงตามบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ความรับผิดชอบ ความซับซ้อนของงานและสภาวะการณ์ของตลาด
  • โบนัสประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน กำหนดโดยอ้างอิงผลการดำเนินการของบริษัท เพื่อเป็นการจูงใจและให้รางวัลพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด สะท้อนให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงานของระดับหน่วยงานและระดับบุคคล
  • บริษัทกำหนดให้มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคล โดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและการจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • ค่าตอบแทนอื่น ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การประกันชีวิตกลุ่ม และสวัสดิการอื่นๆ

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยง และผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง และกำกับดูแลให้พนักงานมีการบริหารจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้บริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

   บริษัทมีการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับโลกและในระดับประเทศเช่น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทและจัดทำแผนเพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ  นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารความเสี่ยง มีการกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยง และมีการระบุ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) ความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset & Liability Management risk) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเสี่ยงด้านโรคระบาด (Pandemic risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) สำหรับใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสี่ยง

   บริษัทมีการทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงเป็นประจำทุกปี และได้มีการสื่อสารกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรเพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และมีการดำเนินการตามกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

 

3.2  การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management :ALM)

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนและกรอบนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนการลงทุนของบริษัท ความเสี่ยง กลยุทธ์ของบริษัท และแนวโน้มสภาวะตลาดมีการจัดทำ Liquidity Stress Test ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 99.5% เพื่อประเมินความเพียงพอทางด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

 

4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท การบริหารจัดการประกันภัยต่อ ความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัย และการกระจุกตัวของภัย

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ ความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงของบริษัทโดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน  ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำโดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

            บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อโดยมีการจัดทำกรอบการบริหาร  การประกันภัยต่อ (Reinsurance management framework) ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารการประกันภัยต่อตามมาตรฐานสากลและที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริหารการประกันภัยต่อเหมาะสมกับขนาด ลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท โดยในเนื้อหากรอบการบริหารการประกันภัยต่อดังกล่าว ประกอบด้วย

  • โครงสร้างการบริหารการประกันภัยต่อ
  • นโยบายการประกันภัยต่อและกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ
    : กระบวนการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายเงินกองทุน
    : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน
    : การทดสอบสภาวะวิกฤต
    : กระบวนการติดตามดูแลประสิทธิภาพการประกันภัยต่อและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
    : การทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ

   นอกจากนี้บริษัทยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยการกําหนดหลักเกณฑ์ในการรับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ (Aggregate risk limit) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนเงินกองทุนของบริษัท จำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามสัญญาประกันภัยต่อ การส่งประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งรายเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับประกันภัยต่อ รวมทั้งการทดสอบสภาวะวิกฤตที่มีผลความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

   อีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของภาครัฐ

 

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย

5.1 การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว

5.1.1 การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาวตามราคาบัญชี

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (Net Premium Valuation : NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตรามรณะ (Mortality), อัตราการขาดอายุ (Lapse), และอัตราการเวนคืน (Surrender) แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาว (Liability Adequacy Test : LAT) ตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation : GPV) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินโดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)

5.1.2 การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาวตามราคาประเมิน

   บริษัทใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (GPV) โดยใช้สมมติฐานที่เป็นค่าประมาณการที่ดีที่สุด (best-estimate assumptions) ของภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยก่อนเอาประกันภัยต่อโดยรวมถึงค่าเผื่อความผันผวน (Provision of Adverse Deviations : PADs) ซึ่งเป็นไปตามที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด

5.2 การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะสั้น

การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะสั้นตามราคาบัญชีและราคาประเมิน

   การประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะสั้นตามราคาบัญชีและราคาประเมิน ประกอบด้วยมูลค่าของสำรองเบี้ยประกันภัย และ มูลค่าของสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย

   การกำหนดมูลค่าสำรองเบี้ยประกันภัย บริษัทฯ สำรองเบี้ยประกันภัยจากมูลค่าที่มากกว่าระหว่างสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ (Unearned Premium Reserve : UPR) และสำรองสำหรับความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุด (Unexpired Risk Reserve : URR) โดยรวมถึงค่าเผื่อความผันผวนซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสมมติฐานที่เป็นค่าประมาณการที่ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ามูลค่าภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยเพียงพอที่ระดับความเชื่อมั่นตามสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด

   ในส่วนของการกำหนดสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย บริษัทฯ ได้ใช้หลายวิธีการทางสถิติและทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในการจัดทำข้อสมมติที่หลากหลายรวมเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการประมาณการค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดตามแนวทางและเกณฑ์ที่ยอมรับในระดับสากล ข้อสมมติที่ใช้ในการประมาณการของหนี้สินเกิดจากการศึกษาประสบการณ์จริงของบริษัทฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผลลัพธ์ของประมาณการหนี้สินเพียงพอและครอบคลุมหนี้สินที่เกิดจากสัญญาประกันภัยเท่าที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล  อย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนในการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับสินไหมทดแทน ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะมีผลแตกต่างกับหนี้สินที่ได้ตั้งอยู่เดิม

   การประมาณการหนี้สินถูกจัดทำขึ้น ณ วันที่รายงาน สำหรับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าเกิดขึ้นของสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจนถึง ณ วันที่รายงานไม่ว่าจะได้รับรายงานหรือไม่ก็ตาม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนหักด้วยจำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว

   ทั้งนี้ บริษัทมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลและกระบวนการสอบทานความสอดคล้องความถูกต้อง ความสมบูรณ์ของข้อมูล สมมติฐานรวมถึงการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ จากทั้งฝ่ายตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก

   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณของการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยมีรายละเอียดดังนี้

 

6. การลงทุนของบริษัท

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน

   บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

   สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมิน เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่มิได้คาดหมายจากการดำเนินธุรกิจโดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้มีการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤตจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่างๆ ประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณให้มีรายละเอียดดังนี้

 

9. งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินประจำปี 2564 ดังนี้

งบการเงินของบริษัทประจำปี 2564

รายปี 2563

ส่วนที่ 2 รายละเอียดการเปิดเผยข้อมูล

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท

   บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านการประกันชีวิตมาตลอด 72 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้เกี่ยวข้องตลอดมา บริษัทเชื่อและเข้าใจในคุณค่าความรัก ความห่วงใยอนาคตคนที่รักทำให้เกิดการวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นใจได้ว่า คนที่รักจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข รายละเอียดเพิ่มเติม

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ

​   บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจในมิติใหม่ๆ ให้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับผลัตภัณฑ์และการบริการ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า ควบคู่กับการใช้พลังความรัก ส่งมอบสุขภาพที่ดี และสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับคนไทย มีการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจและนโยบายต่างๆในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกัน และให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา ดังนี้

    วิสัยทัศน์ (Vision) 

    “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

 

    พันธกิจ (Mission) 

         • เราคือมืออาชีพ ที่มีลูกค้าอยู่ในหัวใจเสมอ

            OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือมืออาชีพที่พร้อมเป็นที่ปรึกษา แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คิดค้นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงความสุขและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ

         • เราคือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เหนือความคาดหมาย

            OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมที่ทำให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย ทั้งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการให้เกินความคาดหมายของลูกค้า

         • เรายึดมั่นในคุณธรรม เชื่อถือได้ในคำสัญญา
            OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ

         • เราเชื่อในคุณค่า และพลังของความรัก

            OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าพลังความรัก โดยใช้ความรักในอาชีพ รักเพื่อนร่วมงาน รักลูกค้า เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การทำงาน เพื่อส่งมอบคุณค่าความรักนี้ให้กับทุกคน

         • เราใส่ใจดูแลสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
            OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งตามความเชี่ยวชาญ ศักยภาพและขีดความสามารถที่เรามี

    ​

    กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน พร้อมพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้สอดคล้องต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ในด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบสนองกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการก้าวสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้พฤติกรรมลูกค้าปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทได้พัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ พร้อมใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Digital Insurer ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกไลฟ์สไตล์ ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆและบริการที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า

    ในปี 2563 OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิตได้ใช้ Love Mindset วิธีคิดที่มีพื้นฐานจากพลังความรักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมในทุกมิติ เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทุกคนในองค์กร ค้นหากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนเร่งคิดค้นนวัตกรรมกต่างๆเพื่อให้ตอบโจทย์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที จนทำให้สามารถเอาชนะความท้าทายทางธุรกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถสร้างการเติบโตเป็นบวกให้กับบริษัท ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการเติบโตของจีดีพีและภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตติดลบ

โดยในปี 2563 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญรายละเอียดเพิ่มเติมดังปรากฏบนเว็บไซต์บริษัท ​ รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสม ภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

 

    ด้านประกันชีวิต

    บริษัทมีการให้บริการลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ อุตสาหกรรม อุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม การประกันชีวิตสำหรับข้าราชการและองค์กร การประกันชีวิตควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัย อาทิ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย โดยมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงิน ช่องทางองค์กรช่องทางอินเทอร์เน็ตและนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง

 

    ด้านลงทุน

    บริษัทดำเนินธุรกิจโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆได้แก่

    1. ตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน บริษัทได้ลงทุนโดยเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับตราสารที่เป็นเงินตราต่างประเทศบริษัทได้มีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้

    2. ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ บริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินไม่มากนัก และให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ดี

    3. การให้สินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น

        3.1 การให้กู้ยืมโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน เป็นการให้กู้ยืมเงินกับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตกับบริษัทโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งออกโดยบริษัทเป็นประกัน

        ​3.2 การให้สินเชื่อโดยมีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน

สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงแรมหมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ศูนย์การค้า อุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยลูกค้าสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวหรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยลูกค้าสามารถเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวหรืออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองการทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้นโดยมีสำนักงานสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 160 สาขา และมีสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต 23 แห่ง ในด้านช่องทางการขายกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ บริษัทมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก และได้ขยายช่องทางใหม่ ได้แก่ ช่องทางสถาบันการเงิน และช่องทาง Internet Sales​ รายละเอียดเพิ่มเติม

 

ตารางสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย ปี 2563

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.5.1 ขั้นตอน ระยะเวลา เอกสาร และวิธีการในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
    ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์ (เงินทรงชีพ/  เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานใหญ่  ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชั้น G อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2207-8888 หรือสำนักงานสาขาทั้ง 160 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบการดำเนินการ เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด กรณีที่ลูกค้าใช้สิทธิ์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และรับการรักษาที่สถานพยาบาลเครือข่ายของบริษัทตามรายชื่อสถานพยาบาลที่แสดงบนเว็บไซต์ของบริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

​1.5.2 วิธีการติดต่อบริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อพิพาทหรือเรื่องร้องเรียน

    เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่เบอร์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 160 สาขาหรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต รายละเอียดเพิ่มเติม

    สำหรับช่องทางการติดต่อกับบริษัทกรณีมีข้อพิพาทหรือข้อร้องเรียน ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทได้หลายช่องทางตามที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการติดต่อผ่านเว็บไซต์ของบริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท​

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลคำนึงถึงความเป็นธรรม ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนภายใต้กฎเกณฑ์ของภาครัฐ มีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ และการควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม บริษัทจึงได้มีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้นและมีการทบทวนเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทได้รับการกำกับดูแลที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดยผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนยึดมั่นและปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายข้อกำหนดของทางการ และมีประสิทธิภาพ

    โดยบริษัทได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีดังนี้

    ด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

    บริษัทกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสมโดยคณะกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของตน และทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและ ฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรแต่ละคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

    ด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์

    เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตระหนัก ยึดถือและนำไปปฏิบัติ หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทหรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์ หรือรายการเกี่ยวโยงที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

    ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    ​บริษัทยึดมั่นต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี มีศีลธรรม จริยธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และคำนึงถึงสิทธิความเป็นธรรมสนองตอบความต้องการต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ขายประกัน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเท่าเทียมและความยุติธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของทุกกลุ่มของบริษัท รวมถึงช่วยให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

    ด้านการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส รายงานทางการเงินและการดำเนินงาน

    บริษัทให้บริการประกันชีวิตโดยยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทันกาลและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความเสมอภาคแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เอาประกัน ตัวแทน พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า รวมทั้งสาธารณชน

  บริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลทางการเงินและมิใช่ข้อมูลทางการเงินผ่านหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบรายงาน เอกสารการขาย สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ โดยถือปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญอย่างเพียงพอในงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี กฎหมาย และข้อบังคับของทางการ โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

    บริษัทมีการตั้งหน่วยงานสื่อสารองค์กร สังกัดฝ่ายการตลาด รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อการตัดสินใจ

    ด้านการบริหารความเสี่ยง

    บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ดูแลให้มีการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง เป็นไปตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญเช่นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์(Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท  มีการกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยงมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง

 บริษัทมีคณะกรรมการความเสี่ยงกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงและมีการทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและกำกับดูแลให้บริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงโดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้

 บริษัทมีสำนักบริหารความเสี่ยงสนับสนุนฝ่ายงานให้มีความเข้าใจและสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอ หาวิธีการลดความเสี่ยง และสอบทานผลการประเมินความเสี่ยงที่ได้รับจากฝ่าย/สำนัก รวมถึงมีการติดตามความเสี่ยงของหน่วยงานต่าง ๆ และการนำมาตรการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ

    นอกจากนี้มีคณะบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน รับผิดชอบในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ พิจารณากลั่นกรอง แนวทางการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมของบริษัทฯให้สอดคล้องกับกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

    ด้านการควบคุมภายใน

    บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยใช้หลักการ Three Lines of Defense ในการบริหารความเสี่ยง การกำกับการปฏิบัติงาน และการควบคุมภายใน โดยได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลทรัพย์สิน ป้องกันการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือการทุจริต ลดความผิดพลาดเสียหาย และข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารมีความถูกต้อง เชื่อถือได้  การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ

    บริษัทกำหนดนโยบายการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งเสริมระบบการควบคุมภายในให้เป็นกลไกสําคัญของกระบวนการกํากับดูแลการดําเนินกิจกรรมต่าง ๆจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ

    โดยกำหนดให้สำนักตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลของระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีสำนักกำกับ ทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางการ ระเบียบของบริษัทและหลักการควบคุมภายในที่ดีและมีสำนักบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีการบริหาร การติดตาม และการประเมินผลการบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง

    ด้านการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน

    บริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานทุกระดับโดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์และแผนงานประจำปีเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม

    นอกจากนี้บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ครอบคลุมรายงานทางการเงินและการดำเนินงานในด้านต่างๆในกรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้คณะกรรมการบริษัทจะมีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปรับปรุงแผนงานที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเพื่อแก้ไขสถานการณ์

    ด้านแผนสืบทอดตำแหน่ง

    บริษัทจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถสามารถสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญต่อไปในอนาคต

    ด้านการแจ้งเบาะแส(Whistle Blowing)

    บริษัทจัดให้มีมาตรการในการรายงานเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในบริษัท  และมีกลไกในการคุ้มครองผู้รายงานเบาะแสโดยมุ่งหวังให้พนักงานหรือบุคคลใดที่มีเบาะแสการกระทำผิดหรือการทุจริต          คอร์รัปชันหรือมีข้อสงสัยว่าจะมีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นที่ฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบปฏิบัติ กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท สามารถรายงานมาที่บริษัทตามช่องทางที่บริษัทกำหนดได้ บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังและโปร่งใสเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อมูลที่ได้รับรายงาน และแจ้งผลให้ผู้รายงานเบาะแสทราบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรก็ตามทั้งนี้บริษัทจะรักษาความลับของผู้รายงานเบาะแสรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นความลับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมายโดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รายงานโดยเจตนาสุจริตแต่อย่างใด

    ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

    บริษัทยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี    มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ บริษัทต่อต้านการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยมีกระบวนการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดทำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเพื่อแสดงถึงทิศทางและกรอบการดำเนินงาน โดยนโยบายดังกล่าวบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนทุกคน

    ด้านสิทธิมนุษยชน

    บริษัทให้ความสำคัญต่อการเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ รวมถึงไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิใดๆ ของบุคคลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม         ให้อิสระกับบุคลากรภายในบริษัทในการแสดงสิทธิและเสรีภาพเท่าที่ไม่ไปขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท

    บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน โดยโครงสร้างองค์กรของบริษัทปัจจุบัน เป็นดังนี้

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท

    บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบและจำนวนกรรมการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยคณะกรรมการมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสังเขป คือมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินกิจการของบริษัท กํากับดูแลการกําหนดนโยบาย ดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีระบบการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนด ภายใต้มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง และรอบคอบ และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย

    ​คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการ 10 ท่าน มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ความชำนาญในแขนงอื่นๆ​ รายละเอียดเพิ่มเติม

​​   นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบาย   ที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหาร ของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต  รายละเอียดเพิ่มเติม

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย

​​   คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ การจัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ และคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ  โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับประกอบด้วย

1. นางดัยนา บุนนาค                     ประธานกรรมการ

2. รศ.จารุพร ไวยนันท์                   กรรมการ

3. นางวัลลภา อัสสกุล                   กรรมการ

มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การสอบทานการดำเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอบทานรายงานทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายในโดยการหารือและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีของบริษัท สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยง

คณะกรรมการความเสี่ยงประกอบด้วย​

​​​   ​​   1. นายกีรติ อัสสกุล                  ประธานกรรมการ                

​​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย         กรรมการ                

​​​   ​​   3. นายคาซึฮิโระ ซาซาคิ                กรรมการ                

​​​   ​​   4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์          กรรมการ                

​​​   ​​   5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย       กรรมการ

มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ครอบคลุมและรองรับกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมาตรฐานใหม่ๆของภาครัฐ กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ       ผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง โดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตามประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและวิธีจัดการความเสี่ยงตลอดจนความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ กลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนประกอบด้วย​

​​​   ​​   1. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย        ประธานกรรมการ

​​​   ​​   2. นายกีรติ อัสสกุล                 กรรมการ

​​​   ​​   3. นายสมาน ทิพยไกรศร             กรรมการ

​​​   ​​   4. รศ.จารุพร ไวยนันท์               กรรมการ

​​​   ​​   5. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา         กรรมการ

มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กำหนดแนวทางพัฒนา และติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การบริหารของบริษัทมีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

คณะกรรมการลงทุนประกอบด้วย​

​​​   ​​   1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์           ประธานกรรมการ

​​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย          กรรมการ

​​​   ​​   3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช       กรรมการ

​​​   ​​   4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล           กรรมการ

​​​   ​​   5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล          กรรมการ

​​​   ​​   6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล กรรมการ

มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุน และการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาลความโปร่งใสและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท บริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วย

​​​   ​​   1.นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์            ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. นายสุรพล อัสสกุล                  กรรมการ

​​   ​​   3. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์                กรรมการ

​​   ​​   4. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช       กรรมการ

​​   ​​   5. นายประพีรพงศ์ ยินประพันธ์         กรรมการ

​​​   ​​ มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่าย      การซื้อ หรือการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้มาหรือเสียไปของอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาอนุมัติการซื้อการขายรวมถึงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

​​   • คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย

​​  ​​  ​​  1.นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์            ประธานกรรมการ

​​  ​​  ​​  2. นายสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์           รองประธานกรรมการ

​​  ​​  ​​  3. นายสมาน ทิพยไกรศร                กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​4. นางสาวทัศนีย์ ธรรมพิพิธ            กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​5. นางบังอร สาธิตคณิตกุล             กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​6. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช        กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​7. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย         กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​8. นางสาววันเพ็ญ เกตุชาญชัย          กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​9. นายวรพัฒน์ โอภาสเจริญกิจ         กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​10. นายสุจิตร วงษ์ภูเย็น                กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​11. นายพีรพงษ์ จิตจาตุรันต์            กรรมการ

​​  ​​  ​​  ​12. นายสานิตย์ สนิทนาน                กรรมการ

​​​   ​​ มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท กำหนดแผนการออกผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท กำกับดูแลให้การดำเนินงานของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมายทางการเงินและแผนงานที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด กำกับดูแลให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆให้เป็นไปตามกรอบและนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร

​​   ​​การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพอ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้​

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)

​​   การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลการดำเนินงานของบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน​

​​   นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนสรุปโดยรวมได้ดังนี้

​​   การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกรรมการกรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ

​​  ​​• คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน  เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกันประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์อื่น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป​
 • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการและรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจน เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

​​   

ค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน

กรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ดังนี้

​​  • ค่าตอบแทนประจำได้แก่ เงินเดือนเงิน ประจำตำแหน่ง กำหนดโดยอิงตามบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ความรับผิดชอบ ความซับซ้อนของงานและสภาวะการณ์ของตลาด

​​  • โบนัสประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน กำหนดโดยอ้างอิงผลการดำเนินการของบริษัท เพื่อเป็นการ    จูงใจและให้รางวัลพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด สะท้อนให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงานของระดับหน่วยงานและระดับบุคคล

​​  • บริษัทกำหนดให้มีระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคล โดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและ      การจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า         การบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

​​  • ค่าตอบแทนอื่น ได้แก่  สวัสดิการรักษาพยาบาล  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  การประกันชีวิตกลุ่ม  และสวัสดิการอื่นๆ
 

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM) 

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)

​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งและเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญได้แก่ การกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยง และการที่ผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง และกำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามกรอบและนโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทตลอดจนบริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

​​   บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) ตลอดจนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

​​   ​นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้แก่ การระบุ ประเมิน ตอบสนอง ติดตามและรายงานความเสี่ยงในส่วนของความเสี่ยงที่มีความสำคัญ บริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสี่ยง

 

3.2 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management :ALM)

​​   ​​บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนและแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนการลงทุนของบริษัทและแนวโน้มสภาวะตลาด มีการจัดทำ Liquidity Stress Test ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 99.5% เพื่อประเมินความเพียงพอทางด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต​


​4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทการบริหารจัดการประกันภัยต่อความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัยและการกระจุกตัวของภัย

​​     บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง        ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ ความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงของบริษัท โดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

​​     บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อโดยมีการจัดทำกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ (Reinsurance management framework) ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารการประกันภัยต่อตามมาตรฐานสากลและที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริหารการประกันภัยต่อเหมาะสมกับขนาด ลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท โดยในเนื้อหากรอบการบริหารการประกันภัยต่อดังกล่าว ประกอบด้วย

​​   • โครงสร้างการบริหารการประกันภัยต่อ​

​​   • นโยบายการประกันภัยต่อและกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ

​​     : กระบวนการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายเงินกองทุน​

​​     : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

​​     : การทดสอบสภาวะวิกฤต

​​     : กระบวนการติดตามดูแลประสิทธิภาพการประกันภัยต่อและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

​​     : การทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ​

​​     นอกจากนี้บริษัทยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยภัยต่อ​โดยการกําหนดหลักเกณฑ์ในการรับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ (Aggregate risk limit) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนเงินกองทุนของบริษัท จำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามสัญญาประกันภัยต่อ การส่งประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งราย เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับประกันภัยต่อ รวมทั้งการทดสอบสภาวะวิกฤตที่มีผลความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจอีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของภาครัฐ
 

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย
​​     ​การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว

  บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากอัตรามรณะและอัตราการขาดอายุ อัตราการเวนคืน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาว ตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)

 

การกำหนดข้อสมมติของสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย

  บริษัทกำหนดสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายตามแนวทางและเกณฑ์ที่ยอมรับในระดับสากล ข้อสมมติที่ใช้ในการประมาณการของหนี้สินเกิดจากการศึกษาประสบการณ์จริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผลลัพธ์ของประมาณการหนี้สินเพียงพอและครอบคลุมหนี้สินที่เกิดจากสัญญาประกันภัยเท่าที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล  อย่างไรก็ตามมีความไม่แน่นอนในการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับสินไหมทดแทนซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะมีผลแตกต่างกับหนี้สินที่ได้ตั้งอยู่เดิม

  การประมาณการหนี้สินถูกจัดทำขึ้น ณ วันที่รายงาน สำหรับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าเกิดขึ้นของสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจนถึง ณ วันที่รายงานไม่ว่าจะได้รับรายงานหรือไม่ก็ตาม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนหักด้วยจำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว

  บริษัทได้ใช้หลายวิธีการทางสถิติทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในการจัดทำข้อสมมติที่หลากหลายรวมเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการประมาณการค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณของการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยมีรายละเอียดดังนี้  

     

6. การลงทุนของบริษัท 
    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน

  บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

    สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมิน เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้  

7. ผลการดําเนินงานของบริษัทประกันภัย รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

   ในปี 2563 OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรให้มุ่งสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่หลากหลาย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนแต่ด้วยความสามารถ ในการปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทําให้บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างผลงานได้ในระดับที่น่าพอใจ

 

สินทรัพย์

   ในปี 2563 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิตจํากัด (มหาชน) มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคารพันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ จํานวนเงินทั้งสิ้น 99,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.36 หรือคิดเป็นเงินจํานวน 1,337 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความมั่นคงแข็งแกร่งในการดําเนินธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี

 

เงินสํารองประกันชีวิต

   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ได้จัดสรรเงินสํารองประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยไว้สําหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกําหนด เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย ซึ่งมีผลผูกพันไว้กับสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีเงินสํารองประกันชีวิตจํานวนเงินทั้งสิ้น 75,058 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนจํานวน 969 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.28

 

การลงทุนของบริษัท

   ในด้านนโยบายการลงทุนของบริษัท ยังคงเน้นการนํารายได้จากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากผู้ถือกรมธรรม์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยมีรายได้ที่แน่นอน ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับกรมธรรม์ที่บริษัทเสนอขาย เน้นให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สิน และหนี้สินของบริษัท (Asset Liabilities Management : ALM) ในการจัดสรรเงินลงทุนจะคํานึงถึงความสอดคล้อง และครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายผลประโยชน์ให้กับลูกค้าได้ตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ ภายใต้นโยบายการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม การจัดสรรการลงทุนจะกระจายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในพันธบัตร รัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝากธนาคาร เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูงเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 โดยในปี 2563 บริษัทมีผลตอบแทนจากการลงทุน ร้อยละ 5.41

 

เบี้ยประกันชีวิต

   จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ดําเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สร้างความสูญเสียให้กับคนนับล้านทั่วโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเป็นปัจจัยลบต่อภาคธุรกิจส่งผลให้ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตไทยเติบโตในอัตราติดลบ แต่ภายใต้ความท้าทายดังกล่าวบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการปรับเปลี่ยนวิธีการนําเสนอผลิตภัณฑ์และพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) มีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตในอัตราที่น่าพอใจ โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรวมจํานวนเงินทั้งสิ้น 14,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 133 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.94 โดยแบ่งเป็น

 

เบี้ยประกันชีวิตประเภทสามัญ

   ปี 2563 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทสามัญ จํานวนเงิน 7,164 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 173 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.48

 

เบี้ยประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม

   ปี 2563 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม จํานวนเงิน 4,445 ล้านบาท เติบโตลดลงจากปีก่อนจํานวนเงิน 323 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.78

 

เบี้ยประกันชีวิตประเภทกลุ่ม

   ปี 2563 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จํานวนเงิน 2,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 224 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.67

 

เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล

   ปี 2563 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จากปีก่อน โดยบริษัทได้รับ เบี้ยประกันจากการประกันภัยอุบัติเหตุ ส่วนบุคคลจํานวนเงิน 199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 58.64 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.84

 

เบี้ยประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)

   เมื่อกลางปี 2563 บริษัทได้เริ่มเปิดขายประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เป็นครั้งแรก โดยบริษัทได้รับเบี้ยประกันจํานวนเงิน 33,000 บาท

 

เงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์

   ​ในปี 2563 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ได้ส่งมอบ ความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าผู้เอาประกันชีวิต โดยมีเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์จํานวนเงิน 15,046      ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 304 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06

 

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน

​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่มิได้คาดหมายจากการดำเนินธุรกิจโดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้มีการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤตจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่างๆ ประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณให้มีรายละเอียดดังนี้

งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและ แสดงความเห็นแล้ว
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินประจำปี 2563 ดังนี้ 

งบการเงินของบริษัทประจำปี 2563

รายปี 2562

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท

    บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านการประกันชีวิตมาตลอด 71 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้เกี่ยวข้องตลอดมา บริษัทเชื่อและเข้าใจในคุณค่าความรัก ความห่วงใยอนาคตคนที่รักทำให้เกิดการวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นใจได้ว่า คนที่รักจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข รายละเอียดเพิ่มเติม

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ

​   บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจในมิติใหม่ๆ ให้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับผลัตภัณฑ์และการบริการ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า ควบคู่กับการใช้พลังความรักส่งมอบสุขภาพที่ดี และสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้กับคนไทย มีการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจและนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกัน และให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์ และบริการของบริษัท โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา ดังนี้

    วิสัยทัศน์ (Vision) 

    “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

 

    พันธกิจ (Mission) 

         • เราคือมืออาชีพ ที่มีลูกค้าอยู่ในหัวใจเสมอ

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือมืออาชีพที่พร้อมเป็นที่ปรึกษา แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คิดค้นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงความสุขและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ

         • เราคือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เหนือความคาดหมาย

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมที่ทำให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายทั้งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการให้เกินความคาดหมายของลูกค้า

         • เรายึดมั่นในคุณธรรม เชื่อถือได้ในคำสัญญา

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ

         • เราเชื่อในคุณค่า และพลังของความรัก

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนคือผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าพลังความรัก โดยใช้ความรักในอาชีพ รักเพื่อนร่วมงาน รักลูกค้า เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การทำงาน เพื่อส่งมอบคุณค่าความรักนี้ให้กับทุกคน

         • เราใส่ใจดูแลสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

    ​OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งตามความเชี่ยวชาญ ศักยภาพและขีดความสามารถที่เรามี

 

     กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน พร้อมพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้สอดคล้องต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ในด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบสนองกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการก้าวสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้พฤติกรรมลูกค้าปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทได้พัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ พร้อมใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Digital Insurer ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในทุกไลฟ์สไตล์ ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆและบริการที่เหนือความคาดหมายให้กับลูกค้า

    ​ในปี 2562 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” เพื่อให้ คนไทยทุกคนได้รับความคุ้มครองชีวิต สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจด้วยหลักประกันที่มั่นคงสำหรับชีวิตและครอบครัวและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

     โดยในปี 2562 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสม ภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

    ด้านประกันชีวิต
    บริษัทมีการให้บริการลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประเภทสามัญอุตสาหกรรม อุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม การประกันชีวิตสำหรับข้าราชการและองค์กร และสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ อาทิ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็งสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย โดยมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงินช่องทางองค์กร ช่องทางอินเทอร์เน็ต และนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง

    ด้านลงทุน
    บริษัทดำเนินธุรกิจโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆได้แก่
    1. ตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการลงทุน          ตราสารหนี้ภาคเอกชน บริษัทได้ลงทุนโดยเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับตราสารที่เป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทได้มีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้
    2. ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ บริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินไม่มากนัก และให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ดี
    3. การให้สินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น
       3.1 การให้กู้ยืมโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน เป็นการให้กู้ยืมเงินกับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตกับบริษัทโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งออกโดยบริษัทเป็นประกัน
       3.2 การให้สินเชื่อโดยมีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน
             สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ศูนย์การค้า อุตสาหกรรมขนาดย่อมฯลฯ โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว
             สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยลูกค้าสามารถเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัย แยกตามประเภทของการรับประกันภัย

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองการทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้นโดยมีสำนักงานสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 171 สาขา และมีสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต 24 แห่ง ในด้านช่องทางการขายกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ลูกค้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ บริษัทมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก และได้ขยายช่องทางใหม่ ได้แก่ ช่องทางสถาบันการเงิน และช่องทาง Internet Sales รายละเอียดเพิ่มเติม

 

ตารางสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย ปี 2562

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
    เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่เบอร์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 171 สาขา หรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต รายละเอียดเพิ่มเติม

    ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์ (เงินทรงชีพ/เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่ สำนักงานใหญ่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชั้นG อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2207-8888หรือสำนักงานสาขาทั้ง 171 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบ การดำเนินการ เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด กรณีที่ลูกค้าใช้สิทธิ์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และรับการรักษาที่สถานพยาบาลเครือข่ายของบริษัทตามรายชื่อสถานพยาบาลที่แสดงบนเว็บไซต์ของบริษัท รายละเอียดเพิ่มเติม

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท​
    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยบริษัทได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลคำนึงถึงความเป็นธรรม ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนภายใต้กฎเกณฑ์ของภาครัฐ มีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ และการควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม บริษัทจึงได้มีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น โดยผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนยึดมั่นและปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายข้อกำหนดของทางการ และมีประสิทธิภาพ

    บริษัทได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้
    ด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
    คณะกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้มีจริยธรรม มีความรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจนเพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตรแต่ละคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
    ด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์
   ​เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนโยบายควบคุมภายในที่กำหนดถึงการดำเนินการด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในปี 2562 คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตระหนัก ยึดถือและนำไปปฏิบัติ โดยนโยบายดังกล่าวครอบคลุมถึง กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานในการหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเอง และบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทหรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
    ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    บริษัทยึดมั่นต่อการดำเนินธุรกิจตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และดำเนินธุรกิจอย่างมีศีลธรรม จริยธรรม คำนึงถึงสิทธิ ความเป็นธรรมและการสนองตอบความต้องการต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มซึ่งรวมถึง ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ขายประกัน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเท่าเทียมและความยุติธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัท รวมถึงช่วยให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด
    ด้านการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส รายงานทางการเงินและการดำเนินงาน
   บริษัทให้บริการประกันชีวิตโดยยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทันกาลและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความเสมอภาคแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เอาประกันภัย ตัวแทน พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า รวมทั้งสาธารณชน
   บริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลทางการเงินและมิใช่ข้อมูลทางการเงินผ่านหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบรายงาน เอกสารการขาย สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ โดยถือปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญอย่างเพียงพอในงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี กฎหมาย และข้อบังคับของทางการ
   บริษัทมีการตั้งหน่วยงานสื่อสารองค์กร สังกัดฝ่ายการตลาด รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อการตัดสินใจ
    ด้านการบริหารความเสี่ยง
    บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญเช่นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์(Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ(Operational risk)โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีการกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยงมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง
    บริษัทมีคณะกรรมการความเสี่ยงกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงและมีการทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและกำกับดูแลให้บริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงโดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้
    บริษัทมีสำนักบริหารความเสี่ยง สนับสนุนฝ่ายงานให้มีความเข้าใจและสามารถประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอ หาวิธีการลดความเสี่ยง และสอบทานผลการประเมินความเสี่ยงที่ได้รับจากฝ่าย/สำนัก รวมถึงมีการติดตามความเสี่ยงของหน่วยงานต่าง ๆ และการนำมาตรการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ
    นอกจากนี้มีคณะบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน รับผิดชอบในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ พิจารณากลั่นกรองแนวทางการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมของบริษัทฯให้สอดคล้องกับกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง
    ด้านการควบคุมภายใน
   บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยใช้หลักการ Three Lines of Defense ในการบริหารความเสี่ยง การกำกับการปฏิบัติงาน และการควบคุมภายใน โดยได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลทรัพย์สิน ป้องกันการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือการทุจริต ลดความผิดพลาดเสียหาย และข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ
   บริษัทส่งเสริมระบบการควบคุมภายในให้เป็นกลไกสําคัญของกระบวนการกํากับดูแลการดําเนินกิจกรรมต่าง ๆจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ
   โดยกำหนดให้สำนักตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลของระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีสำนักกำกับ ทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางการ ระเบียบของบริษัทและหลักการควบคุมภายในที่ดีและมีสำนักบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีการบริหาร การติดตาม และการประเมินผลการบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง
    ด้านการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
   บริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานทุกระดับโดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์และแผนงานประจำปีเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม
   นอกจากนี้บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ครอบคลุมรายงานทางการเงินและการดำเนินงานในด้านต่างๆในกรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้คณะกรรมการบริษัทจะมีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปรับปรุงแผนงานที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเพื่อแก้ไขสถานการณ์
    ด้านแผนสืบทอดตำแหน่ง
    ​บริษัทจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ สามารถสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญต่อไปในอนาคต
    ​ด้านการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing)
    บริษัทจัดให้มีมาตรการในการรายงานเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในบริษัท และมีกลไกในการคุ้มครองผู้รายงานเบาะแส บริษัทยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีคุณธรรมและตรวจสอบได้ โดยมุ่งหวังให้พนักงานหรือบุคคลใดที่มีเบาะแสการกระทำผิดหรือการทุจริตคอร์รัปชันหรือมีข้อสงสัยว่าจะมีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นที่ฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบปฏิบัติ กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท สามารถรายงานมาที่บริษัทตามช่องทางที่บริษัทกำหนดได้ บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังและโปร่งใสเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อมูลที่ได้รับรายงาน และแจ้งผลให้ผู้รายงานเบาะแสทราบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรก็ตามทั้งนี้บริษัทจะรักษาความลับของผู้รายงานเบาะแสรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นความลับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมายโดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รายงานโดยเจตนาสุจริตแต่อย่างใด

    ด้านการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชัน
   บริษัทยึดมั่นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทต่อต้านการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยมีกระบวนการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดทำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเพื่อแสดงถึงทิศทางและกรอบการดำเนินงาน โดยนโยบายดังกล่าวบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนทุกคน

    ด้านสิทธิมนุษยชน
    ​บริษัทให้ความเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท
    ​​บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน โดยโครงสร้างองค์กรของบริษัทปัจจุบันเป็นดังนี้

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท
    ​​บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบ และจำนวนกรรมการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการ ในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยคณะกรรมการ มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสังเขป คือมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินกิจการ ของบริษัท กํากับดูแลการกําหนดนโยบาย ดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีระบบ การติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนด ภายใต้มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง และรอบคอบ และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย
    ​​คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการ 10 ท่าน มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ความชำนาญในแขนงอื่นๆ รายละเอียดเพิ่มเติม
​​   นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบาย ที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหาร ของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต  รายละเอียดเพิ่มเติม

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย
​​   คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ การจัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

​​   คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
​​   • คณะกรรมการกำกับและตรวจสอบ ประกอบด้วย
​​   ​​   1. นางดัยนา บุนนาค ประธานกรรมการ
​​   ​​   2. รศ.จารุพร ไวยนันท์ กรรมการ
​​   ​​   ​3. นางวัลลภา อัสสกุล กรรมการ

​​   ​มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสอบทานการดำเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอบทานรายงานทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายใน โดยการหารือและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีของบริษัท สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยง

​​   • คณะกรรมการความเสี่ยง ประกอบด้วย

​​   ​​   1. นายกีรติ อัสสกุล ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย กรรมการ

​​   ​​   3. นายคาซึฮิโระ ซาซาคิ กรรมการ

​​   ​​   4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการ

​​   ​​   5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย   กรรมการ

​​   ​​มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ครอบคลุมและรองรับกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมาตรฐานใหม่ๆของภาครัฐ กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง โดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตาม ประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและวิธีจัดการความเสี่ยงตลอดจนความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ กลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท​


​​   • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ประกอบด้วย

​​   ​​   1. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย  ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. นายกีรติ อัสสกุล  กรรมการ

​​   ​​   3. นายสมาน ทิพยไกรศร  กรรมการ

​​   ​​   4. รศ.จารุพร ไวยนันท์  กรรมการ 

​​   ​​   5. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา  กรรมการ

​​   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กำหนดแนวทางพัฒนา และติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การบริหารของบริษัทมีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน​


​​   • คณะกรรมการลงทุน ประกอบด้วย

​​   ​​   1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย กรรมการ

​​   ​​   3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช กรรมการ

​​   ​​   4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล กรรมการ

​​   ​​   5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล กรรมการ

​​   ​​   6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล กรรมการ

​​   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุม การพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท บริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
 

​​   • คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย

​​   ​​   1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์  ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. นายสุรพล อัสสกุล   กรรมการ

​​   ​​   3. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์  กรรมการ

​​   ​​   4. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช  กรรมการ 

​​   ​​   5. นายประพีรพงศ์ ยินประพันธ์  กรรมการ 

​​   มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่าย การซื้อหรือการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้มาหรือเสียไปของอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาอนุมัติการซื้อการขายรวมถึงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามอำนาจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร
   การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพออันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท  ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)
   การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลประกอบการบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจ ในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

​​   ​​นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนสรุปโดยรวมได้ดังนี้ 
​​   ​​การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกรรมการ  กรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ

  • ​​  ​​คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมบริษัทและกรรมการชุดย่อยโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกัน ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์อื่น และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
  • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ และรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจน เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

​​ค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน
กรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน ดังนี้

  • ​​ค่าตอบแทนประจำได้แก่ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กำหนดโดยอิงตามบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ความรับผิดชอบ ความซับซ้อนของงานและสภาวะการณ์ของตลาด
  • โบนัสประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน กำหนดโดยอ้างอิงผลการดำเนินการของบริษัท เพื่อเป็น การจูงใจและให้รางวัลพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนให้เห็นถึง ผลการปฏิบัติงานของระดับหน่วยงานและระดับบุคคล
  • บริษัทกำหนดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคลโดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและ การจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการประเมินผลปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • ค่าตอบแทนอื่น ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การประกันชีวิตกลุ่ม และสวัสดิการอื่นๆ

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM) 

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)
   
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งและเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญได้แก่ การกำหนด ให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยงและการที่ผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง และกำกับดูแล ให้พนักงานปฏิบัติตามกรอบและนโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทตลอดจนบริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้
   
   ​​บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำ แผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบาย การบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญเช่นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) ตลอดจนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้
   
   นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะกรรมการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้แก่ การระบุ ประเมิน ตอบสนอง ติดตามและรายงานความเสี่ยงในส่วนของความเสี่ยง ที่มีความสำคัญบริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง ของระดับความเสี่ยง

3.2 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

​​   ​​บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนและแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนการลงทุนของบริษัทและแนวโน้มสภาวะตลาด มีการจัดทำ Liquidity Stress Test ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 99.5% เพื่อประเมินความเพียงพอทางด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต


​4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท การบริหารจัดการประกันภัยต่อ ความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัย และการกระจุกตัวของภัย
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ ความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงของบริษัท โดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  เป็นประจำ โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก
​​   บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อโดยมีการจัดทำกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ (Reinsurance management framework) ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารการประกันภัยต่อตามมาตรฐานสากลและที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริหารการประกันภัยต่อเหมาะสมกับขนาด ลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท โดยในเนื้อหากรอบการบริหารการประกันภัยต่อดังกล่าว ประกอบด้วย

  • โครงสร้างการบริหารการประกันภัยต่อ
  • นโยบายการประกันภัยต่อและกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ
    : กระบวนการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายเงินกองทุน
    : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน
    : การทดสอบสภาวะวิกฤต
    : กระบวนการติดตามดูแลประสิทธิภาพการประกันภัยต่อและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
    : การทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ

   นอกจากนี้บริษัทยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยการกําหนดหลักเกณฑ์ในการรับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ (Aggregate risk limit) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนเงินกองทุนของบริษัท จำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามสัญญาประกันภัยต่อ การส่งประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งราย เพื่อกระจายความเสี่ยง   โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับประกันภัยต่อ รวมทั้งการทดสอบสภาวะวิกฤตที่มีผลความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

   อีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของภาครัฐ
 

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย
​​   การกำหนดข้อสมมติของสำรองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว
​​   บริษัทใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากอัตรามรณะและอัตราการขาดอายุ อัตราการเวนคืน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจาก สัญญาประกันภัยระยะยาว ตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)​​   
​​​   การกำหนดข้อสมมติของสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย
   
บริษัทกำหนดสำรองค่าสินไหมทดแทนและค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายตามแนวทางและเกณฑ์ที่ยอมรับในระดับสากล ข้อสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการของหนี้สินเกิดจากการศึกษาประสบการณ์จริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผลลัพธ์ของประมาณการหนี้สินเพียงพอและครอบคลุมหนี้สินที่เกิดจากสัญญาประกันภัยเท่าที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามมีความไม่แน่นอนในการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับสินไหมทดแทน ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะมีผลแตกต่างกับหนี้สินที่ได้ตั้งอยู่เดิม

   การประมาณการหนี้สินถูกจัดทำขึ้น ณ วันที่รายงาน สำหรับค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าเกิดขึ้นของสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจนถึง ณ วันที่รายงานไม่ว่าจะได้รับรายงานหรือไม่ก็ตาม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนหักด้วยจำนวนเงินที่ได้ชำระแล้ว

​​   บริษัทได้ใช้หลายวิธีการทางสถิติทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในการจัดทำข้อสมมติที่หลากหลายรวมเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการประมาณการค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณของการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัยมีรายละเอียด ดังนี้   

                                                  

6. การลงทุนของบริษัท 
   
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยโดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน
​​   บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
​​   สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมินเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้ 


7. ผลการดําเนินงานของบริษัทประกันภัย รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
   
ใน ปี 2562 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมาตลอดระยะเวลา 71 ปี ด้วยยึดมั่นในการกำกับดูแลที่ดี การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” เพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิต ด้วยการคุ้มครองชีวิตที่คุ้มค่า ควบคู่ไปกับการส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทำให้ในปี 2562 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
​​   สินทรัพย์
​​   ในปี 2562 บริษัทมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ จำนวนเงินทั้งสิ้น 98,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.39 หรือคิดเป็นเงินจำนวน 3,220 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการเงินรวมถึงความมั่นคงแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี
​​   เงินสํารองประกันชีวิต
​​  บริษัทได้จัดสรรเงินสำรองประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยไว้สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัยซึ่งมีผลผูกพันไว้ โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสำรองประกันชีวิต จำนวนเงินทั้งสิ้น 76,028 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนจำนวน 582 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.76
​​   การลงทุนของบริษัท
​​   ในปี 2562 ด้านนโยบายการลงทุนของบริษัท ยังคงเน้นการนำรายได้จากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย และมีรายได้ที่แน่นอน ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทเสนอขาย โดยเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท (Asset Liabilities Management: ALM) ส่วนการจัดสรรเงินลงทุนจะคำนึงถึงความสอดคล้อง และครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายผลประโยชน์ตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งนโยบายการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม การจัดสรรการลงทุนจะกระจายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝากธนาคาร เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ประกันภัยและตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูงเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 โดยในปี 2562 บริษัทมีผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 5.69
​​   เบี้ยประกันชีวิต
​​   ปี 2562 ท่ามกลางปัจจัยความท้าทายที่หลากหลาย ส่งผลให้ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตไทยเติบโตในอัตราลดลง แต่อย่างไรก็ตาม จากการกำหนดกลยุทธ์ด้านการขายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนแผนงานด้านผลิตภัณฑ์ได้ตอบสนองกับความต้องการตลาดได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการใช้นวัตกรรมช่วยในการพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 มีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตในอัตราที่น่าพอใจ โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 825 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16 โดยแบ่งเป็น

  • ​เบี้ยประกันชีวิตประเภทสามัญ
    ปี 2562 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทสามัญจำนวนเงิน 6,991 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 534 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28
  • ​​เบี้ยประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม
    ปี 2562 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรมจำนวนเงิน 4,769 ล้านบาท เติบโตลดลงจากปีก่อนจำนวนเงิน 212 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.26
  • ​​เบี้ยประกันชีวิตประเภทกลุ่ม
    ปี 2562 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทชีวิตกลุ่มจำนวนเงิน 2,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 507 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.92
  • เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
    ปี 2562 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีก่อน โดยบริษัทได้รับเบี้ยประกันจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจำนวนเงิน 140 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวนเงิน 4.23 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.93

​​   ด้านเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์

​​   ปี 2562 บริษัทได้มอบความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยแก่ลูกค้าผู้เอาประกันชีวิตโดยมีเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ จำนวนเงิน 14,742 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวนเงิน 2,982 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.36

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

 ​

 

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน
   
บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอ ต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่มิได้คาดหมายจากการดำเนินธุรกิจโดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้มีการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤตจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่างๆ ประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

 ​

9. งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและ แสดงความเห็นแล้ว
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินของประจำปี 2562 ดังนี้

งบการงานของบริษัทประจำปี 2562

รายปี 2561

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท

    บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทประกันชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านการประกันชีวิตมาตลอด 70 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้เกี่ยวข้องตลอดมา บริษัทเชื่อและเข้าใจในคุณค่าความรัก ความห่วงใยอนาคตคนที่รักทำให้เกิดการวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นใจได้ว่า คนที่รักจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข รายละเอียดเพิ่มเติม

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ

​   บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจและนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกัน และให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์ และบริการของบริษัท โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอมา ดังนี้

    วิสัยทัศน์ (Vision) 

    “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

    พันธกิจ (Mission) 

         • เราคือมืออาชีพ ที่มีลูกค้าอยู่ในหัวใจเสมอ

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ทุกคนคือมืออาชีพที่พร้อมเป็นที่ปรึกษา แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต คิดค้นพัฒนาบริการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงความสุขและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ

         • เราคือผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่เหนือความคาดหมาย

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมที่ทำให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายทั้งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพงานบริการให้เกินความคาดหมายของลูกค้า

         • เรายึดมั่นในคุณธรรม เชื่อถือได้ในคำสัญญา

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยการปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีคุณธรรม มีจรรยาบรรณยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและจริงใจ

         • เราเชื่อในคุณค่า และพลังของความรัก

    OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ทุกคนคือผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในคุณค่าพลังความรัก โดยใช้ความรักในอาชีพ รักเพื่อนร่วมงาน รักลูกค้า เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์การทำงาน เพื่อส่งมอบคุณค่าความรักนี้ให้กับทุกคน

         • เราใส่ใจดูแลสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

    ​OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ทุกคนตระหนักและเข้าใจถึงการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งตามความเชี่ยวชาญ ศักยภาพและขีดความสามารถที่เรามี

 

     กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

    ปี 2561 ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่ยุคดิจิทัล OCEAN LIFE ไทยสมุทรฯ ยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยการใช้ความรักเป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) มุ่งสู่การเป็น Digital Insurer อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึก แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งกำหนดแนวทางในการพัฒนากระบวนการทำงานมุ่งสู่อนาคต พร้อมติดอาวุธให้กับบุคลากรในทุกระดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มุ่งสู่วิสัยทัศน์ใหม่ในการ “เป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองที่คุ้มค่าได้ง่าย ๆ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต

    ​ในปี 2561 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับความคุ้มครองชีวิต สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจด้วยหลักประกันที่มั่นคงสำหรับชีวิตและครอบครัวและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

     โดยในปี 2561 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ รายละเอียดเพิ่มเติม

 

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสม ภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

    ด้านประกันชีวิต
    บริษัทมีการให้บริการลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประเภทสามัญอุตสาหกรรม อุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม การประกันชีวิตสำหรับข้าราชการและองค์กร และสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ อาทิ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็งสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ย โดยมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านสถาบันการเงินช่องทางองค์กร ช่องทางอินเทอร์เน็ต และนายหน้าประกันชีวิตเป็นช่องทางรอง

    ด้านลงทุน
    บริษัทดำเนินธุรกิจโดยจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆได้แก่
    1. ตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน บริษัทได้ลงทุนโดยเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับตราสารที่เป็นเงินตราต่างประเทศ บริษัทได้มีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้งจำนวน
    2. ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ บริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินไม่มากนัก และให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ดี
    3. การให้สินเชื่อสามารถแบ่งออกเป็น
       3.1 การให้กู้ยืมโดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน เป็นการให้กู้ยืมเงินกับลูกค้าที่ทำประกันชีวิตกับบริษัทโดยมีกรมธรรม์ซึ่งออกโดยบริษัทเป็นประกัน
       3.2 การให้สินเชื่อโดยมีทรัพย์สินจำนองเป็นประกัน
             สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ศูนย์การค้า อุตสาหกรรมขนาดย่อมฯลฯ โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว
             สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยลูกค้าสามารถเลือกเงื่อนไขดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรืออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัย แยกตามประเภทของการรับประกันภัย

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครอง การทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้นโดยมีสำนักงานสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 171 สาขา และมีสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต 26 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2562) ในด้านช่องทางการขายกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ บริษัทมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก และได้ขยายช่องทางใหม่ ได้แก่ ช่องทางสถาบันการเงิน และช่องทาง Internet Sales รายละเอียดเพิ่มเติม

ตารางสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย ปี 2561

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
    เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่เบอร์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 171 สาขา หรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต รายละเอียดเพิ่มเติม

    ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์ (เงินทรงชีพ/เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานใหญ่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ชั้นG อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2207-8888 หรือสำนักงานสาขาทั้ง 171 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบ การดำเนินการ เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด รายละเอียดเพิ่มเติม

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท​
    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี คำนึงถึงความเป็นธรรม ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนเป็นหลัก อีกทั้งยังยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามที่ได้ประกาศไว้ในนโยบายการควบคุมภายใน โดยผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทุกคนตระหนัก ยึดมั่นและปฏิบัติตาม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของทางการ มีความโปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

    บริษัทได้ดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้
    ด้านความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
    บริษัทมีการกำหนดโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทอย่างชัดเจนโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้บริษัทมี การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยและคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทให้มั่นใจว่าบริษัทจะดำเนินการได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยในปี 2561 บริษัทมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน เช่น Unit Linked Steering Committee และคณะทำงานการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม
    ด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์
   ​นอกจากนโยบายควบคุมภายในที่กำหนดถึงการดำเนินการด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในปี 2561 เพื่อเป็นการเน้นย้ำและให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องตระหนัก ยึดถือและนำไปปฏิบัติ บริษัทออกนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่ครอบคลุมการปฏิบัติด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่กำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนประกันชีวิตต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนประกันชีวิตต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความน่าเชื่อถือ และต้องเปิดเผยความสัมพันธ์หรือสถานการณ์ใดๆ ที่สามารถตีความว่าเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัททันทีที่มีกรณีนั้น ๆ เกิดขึ้น
    ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ขายประกัน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเท่าเทียมและความยุติธรรม โดยได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการสำหรับบริษัท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของทุกกลุ่มของบริษัท รวมถึงช่วยให้ธุรกิจของบริษัทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
    ด้านการเปิดเผยข้อมูล ความโปร่งใส รายงานทางการเงินและการดำเนินงาน
   บริษัทยึดหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ทันกาลและสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความเสมอภาคแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เอาประกันภัย    ตัวแทนประกันชีวิต พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้ารวมทั้งสาธารณชน มีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลทางการเงิน และมิใช่ข้อมูลทางการเงินผ่านหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบรายงาน เอกสารการขาย สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ โดยถือปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญอย่างเพียงพอในงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี กฎหมาย และข้อบังคับของทางการโดยงบการเงินดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบก่อนเปิดเผยต่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันเพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างครบถ้วนรอบด้านโดยบริษัท มีการเผยแพร่รายงานทางการเงินไว้ในเว็บไซต์ และปิดประกาศไว้ทุกสาขา บริษัทมีการตั้งหน่วยงานสื่อสารองค์กร สังกัดฝ่ายการตลาด รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อการตัดสินใจ
    ด้านการบริหารความเสี่ยง
    บริษัทมีความเข้าใจและตระหนักถึงการดำเนินงานภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วทั้งในเชิงบวกและลบ รวมทั้งการแข่งขัน กฎระเบียบและข้อบังคับของหน่วยงานควบคุมที่สามารถส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท การมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีจึงเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทมีคณะกรรมการ     ความเสี่ยง กำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และกำกับดูแลให้บริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงโดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ บริษัทมีสำนักบริหารความเสี่ยง สนับสนุนฝ่ายงานให้มีความเข้าใจและสามารถที่จะมองเห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอ หาวิธีการลดความเสี่ยง และสอบทานผลการประเมินความเสี่ยงที่ได้รับจากฝ่าย/สำนัก รวมถึงมีการติดตามความเสี่ยงของหน่วยงานต่าง ๆ และการนำมาตรการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ นอกจากนี้มีคณะบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในรับผิดชอบในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ พิจารณากลั่นกรองแนวทางการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในโดยรวมของบริษัทให้สอดคล้องกับกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง
    ด้านการควบคุมภายใน
   บริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมภายใน และการตรวจสอบการปฏิบัติงานโดยใช้หลักการ Three Lines of Defense ในการบริหารความเสี่ยง และได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน โดยบริษัทวางแผนการกำกับดูแล ติดตามและสอบทานการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลทรัพย์สิน ป้องกันการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือการทุจริต ลดความผิดพลาดเสียหาย และข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารมีความถูกต้องเชื่อถือได้ การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ บริษัทส่งเสริมระบบการควบคุมภายในให้เป็นกลไกสำคัญของกระบวนการกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้สำนักตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลของระบบการควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีสำนักกำกับทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติงานของบริษัทให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางการ ระเบียบของบริษัทและหลักการควบคุมภายในที่ดี
    ด้านการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
​   บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายครอบคลุมทั้งรายงานทางการเงินและการดำเนินงานในด้านต่างๆ ในกรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้คณะกรรมการบริษัทจะมีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปรับปรุงแผนงานที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเพื่อแก้ไขสถานการณ์ บริษัทจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานทุกระดับ โดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์และแผนงานประจำปีเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม
    ด้านแผนสืบทอดตำแหน่ง
    ​บริษัทจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ สามารถสืบทอดตำแหน่งที่สำคัญต่อไปในอนาคต
    ​ด้านการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing)
    บริษัทจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสต่อบริษัทผ่านช่องทางที่บริษัทกำหนดไว้ โดยบริษัทจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และโปร่งใส เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหรือโต้แย้งกับข้อมูลที่ได้รับรายงาน และแจ้งผลให้ผู้รายงานเบาะแสทราบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม

    บริษัทจะไม่เปิดเผยตัวผู้รายงานเบาะแสและจะเก็บข้อมูลเป็นความลับ ทั้งนี้ บริษัทจะรักษาความลับของผู้รายงานเบาะแส รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไว้เป็นความลับเว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยจะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รายงานโดยเจตนาสุจริตแต่อย่างใด

    ด้านการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชัน
   บริษัทยึดมั่นการเป็นองค์กรที่โปร่งใสและปราศจากการทุจริตหรือคอร์รัปชัน รวมทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือคอร์รัปชันในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งกับภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ต่อบริษัท ต่อตนเอง ต่อครอบครัวหรือต่อคนรู้จัก โดยบริษัทมีการกำหนดเรื่องการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชันทั้ง ในจรรยาบรรณธุรกิจ และในนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อเป็นทิศทางและกรอบการดำเนินการของบริษัท โดยบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และตัวแทนทุกคน

    ด้านสิทธิมนุษยชน
    ​บริษัทให้ความเคารพในสิทธิของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด และจะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท
    ​​บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน โดยโครงสร้างองค์กรของบริษัทปัจจุบันเป็นดังนี้​

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท
    ​​บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบ และจำนวนกรรมการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการ ในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยคณะกรรมการ มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสังเขป คือมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินกิจการ ของบริษัท กํากับดูแลการกําหนดนโยบาย ดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีระบบการติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนด ภายใต้มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง และรอบคอบ และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย
    ​​คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ ความชำนาญในแขนงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ท่าน รายละเอียดเพิ่มเติม
​​   นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบาย   ที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต รายละเอียดเพิ่มเติม

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย
​​   คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ การจัดให้มีระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ การจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ การรับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย และการดำรงไว้ซึ่งเงินกองทุนที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายบริหารของบริษัทอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนมีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่  คณะกรรมการกำกับและตรวจสอบ คณะกรรมการความเสี่ยง คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการลงทุน คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารอย่างเป็นระบบ

​​   คณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทแต่ละคณะมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
​​   • คณะกรรมการกำกับและตรวจสอบ ประกอบด้วย
​​   ​​   1. นางดัยนา บุนนาค ประธานกรรมการ
​​   ​​   2. รศ.จารุพร ไวยนันท์ กรรมการ
​​   ​​   ​3. นางวัลลภา อัสสกุล กรรมการ

​​   ​มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการสอบทานการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานประสิทธิผลของระบบในการติดตามการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และผลการติดตามแก้ไขในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตาม สอบทานรายงานทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายใน สอบทานการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร สอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รายงานเกี่ยวกับ การรับข้อร้องเรียนของลูกค้าและบุคคลภายนอกโดยดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสและถูกต้อง และรายงานการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบอย่างสม่ำเสมอ หรือในกรณีที่มีรายการหรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญให้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทโดยไม่ชักช้า​

​​   • คณะกรรมการความเสี่ยง ประกอบด้วย

​​   ​​   1. นายกีรติ อัสสกุล ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย กรรมการ

​​   ​​   3. นายฮิเดะยุคิ โอฮาชิ กรรมการ

​​   ​​   4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ กรรมการ

​​   ​​   5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย  กรรมการ

​​   ​​มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดและมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและรองรับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงภายใต้ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตาม ประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและ วิธีจัดการความเสี่ยงรวมถึงความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท​


​​   • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ประกอบด้วย

​​   ​​   1. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย  ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. นายกีรติ อัสสกุล  กรรมการ

​​   ​​   3. นายสมาน ทิพยไกรศร  กรรมการ

​​   ​​   4. รศ.จารุพร ไวยนันท์  กรรมการ 

​​   ​​   5. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา  กรรมการ

​​   มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติเรื่องเกี่ยวกับ การกำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยให้เหมาะสมกับกลยุทธ์และแผนธุรกิจของบริษัทระยะยาว พิจารณาสรรหากรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อยเพื่อแทนกรรมการที่ครบวาระหรือที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม พิจารณากำหนดหรือทบทวนค่าตอบแทนกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อย กำหนดให้มีการประเมินตนเองของคณะกรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อย และกำหนดงบประมาณและแผนพัฒนากรรมการบริษัทและกรรมการชุดย่อย อีกทั้งพิจารณาสรรหา คัดเลือก และกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการ ตลอดจนกำหนดกระบวนการและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการเพื่อรายงานคณะกรรมการบริษัททราบ รวมถึงการกำหนดและดูแลให้มีหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และพิจารณาแผนและสอบทาน การดำเนินงานตามแผนการสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ​


​​   • คณะกรรมการลงทุน ประกอบด้วย

​​   ​​   1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย กรรมการ

​​   ​​   3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช กรรมการ

​​   ​​   4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล กรรมการ

​​   ​​   5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล กรรมการ

​​   ​​   6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล กรรมการ

​​   มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดทำ ประเมิน และทบทวนกรอบนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงเพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ ให้ความเห็นชอบกรอบนโยบายการลงทุนการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงเพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ กำกับดูแลการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท บริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อรายงานคณะกรรมการบริษัททราบ พิจารณา กลั่นกรองอำนาจดำเนินการของสายงานลงทุนภายใต้กรอบนโยบายการลงทุนก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติ ประเมินผลการดำเนินงานด้านการลงทุนของบริษัท พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการลงทุนของบริษัท และรายงานการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัททราบอย่างสม่ำเสมอ
 

​​   • คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย

​​   ​​   1.นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์  ประธานกรรมการ

​​   ​​   2. นายสุรพล อัสสกุล   กรรมการ

​​   ​​   3. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์  กรรมการ

​​   ​​   4. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช  กรรมการ 

​​   ​​   5. นางสาวอัคริมา พงศ์พัฒนพาณิชย์ กรรมการ 

​​   มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลและดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและหน่วยงานกำกับกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาและกำหนดนโยบายการถือครอง การรักษาสิทธิ์ในทรัพย์สิน การป้องกันทรัพย์สินไม่ให้เกิดการด้อยค่า การกำหนดราคาซื้อ ราคาขาย ราคาเช่า และราคาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ และอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อ การขาย การเช่า และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ กำหนดนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ กำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนนายหน้าหรือตัวแทน และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัททราบไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร

​​   ​​การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งบริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพออันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท  ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)

​​   ​​การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลประกอบการบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจ ในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

​​   ​​นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนสรุปโดยรวมได้ดังนี้ 
​​   ​​การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกรรมการ  กรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการ

​​  ​​• คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมบริษัทและกรรมการชุดย่อยโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจนโปร่งใสและเป็นมาตรฐาน โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีกิจการประเภทเดียวกัน ประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุมรายครั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์อื่นและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากลั่นกรองเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

​​ • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนพร้อมทั้งติดตามและประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ และรวมถึงผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มีความชัดเจน เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับความสามารถและหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการและนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

​​   ​​ค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน

​​   ​​กรรมการผู้จัดการพิจารณากำหนดองค์ประกอบค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารหน่วยงาน ดังนี้

​​  • ค่าตอบแทนประจำได้แก่ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กำหนดโดยอิงตามบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้านวิชาชีพ ความรับผิดชอบ ความซับซ้อนของงานและสภาวะการณ์ของตลาด

​​  • โบนัสประจำปีตามผลการปฏิบัติงาน กำหนดโดยอ้างอิงผลการดำเนินการของบริษัท เพื่อเป็น      การจูงใจและให้รางวัลพนักงานที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนให้เห็นถึง                  ผลการปฏิบัติงานของระดับหน่วยงานและระดับบุคคล

​​  • บริษัทกำหนดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงานและระดับรายบุคคลโดยฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลดำเนินการเชื่อมโยงการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและ         การจ่ายเงินรางวัลประจำปีกับระบบการประเมินผลปฏิบัติงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบริหารผลการปฏิบัติงานของบุคลากร หน่วยงานและองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน   

​​  • ค่าตอบแทนอื่น ได้แก่  สวัสดิการรักษาพยาบาล  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  การประกันชีวิตกลุ่ม  และสวัสดิการอื่นๆ
 

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM) 

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)

​​   ​​บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งและเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญได้แก่ การกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยงและการที่ผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงและการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง และกำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามกรอบและนโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทตลอดจนบริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

​​   ​​บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบาย การบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญเช่นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) ตลอดจนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

​​   ​​นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะกรรมการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้แก่ การระบุ ประเมิน ตอบสนอง ติดตามและรายงานความเสี่ยงในส่วนของความเสี่ยงที่มีความสำคัญบริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง  ของระดับความเสี่ยง

 

3.2 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

​​   ​​บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์ให้เป็นไปตามกรอบนโยบาย การลงทุนแผนการลงทุนรวมถึงมีการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด      อย่างใกล้ชิดโดยจัดทำ Sensitivity Analysis และ Liquidity Stress Test นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มั่นใจ ว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต


​4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท การบริหารจัดการประกันภัยต่อ ความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัย และการกระจุกตัวของภัย
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ ความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุนและชื่อเสียงของบริษัท โดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  เป็นประจำ โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก
​​   บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อโดยมีการจัดทำกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ (Reinsurance management framework) ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารการประกันภัยต่อตามมาตรฐานสากลและที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การบริหารการประกันภัยต่อเหมาะสมกับขนาด ลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท โดยในเนื้อหากรอบการบริหารการประกันภัยต่อดังกล่าว ประกอบด้วย

 

​​   • โครงสร้างการบริหารการประกันภัยต่อ

​​   • นโยบายการประกันภัยต่อและกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ

​​     : กระบวนการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายเงินกองทุน

​​     : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

​​     : การทดสอบสภาวะวิกฤต

​​     : กระบวนการติดตามดูแลประสิทธิภาพการประกันภัยต่อและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

​​     : การทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารการประกันภัยต่อ

​​     นอกจากนี้บริษัทยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยการกําหนดหลักเกณฑ์ในการรับความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ (Aggregate risk limit) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น จํานวนเงินกองทุนของบริษัท จำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามสัญญาประกันภัยต่อ การส่งประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งราย เพื่อกระจายความเสี่ยง   โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้รับประกันภัยต่อ รวมทั้งการทดสอบสภาวะวิกฤตที่มีผลความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

​​     อีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของภาครัฐ
 

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากอัตรามรณะและอัตราการขาดอายุ 
​​อัตราการเวนคืน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจาก สัญญาประกันภัยระยะยาว ตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้                                                      


 

6. การลงทุนของบริษัท 
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยโดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน
​​   บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัทซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
​​   สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมินเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ.2554

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้ 


7. ผลการดําเนินงานของบริษัทประกันภัย รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
​​   ในปี 2561 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน” เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับความคุ้มครองชีวิต สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจด้วยหลักประกันที่มั่นคงสำหรับชีวิตและครอบครัวและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยในปี 2561 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
​​   ด้านสินทรัพย์
​​   ในปี 2561 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตรอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ จำนวนเงินทั้งสิ้น 95,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.79 หรือคิดเป็นเงินจำนวน1,670 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทได้เป็นอย่างดี
​​   ด้านเงินสํารองประกันชีวิต
​​  บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดสรรเงินสำรองประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยไว้สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกำหนด ซึ่งมีผลผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ในอนาคตตามสัญญากรมธรรม์ที่ได้ทำไว้กับลูกค้า โดย ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีเงินสำรองประกันชีวิต จำนวนเงินทั้งสิ้น 76,610 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 1,649 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.20
​​   ด้านการลงทุนของบริษัท
​​   สำหรับนโยบายด้านการลงทุนของ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ยังคงเน้นการนำรายได้จากเบี้ยประกันที่ได้รับจากผู้ถือกรมธรรม์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีรายได้ที่แน่นอนขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับกรมธรรม์ที่บริษัทเสนอขาย เน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท (Asset Liabilities Management: ALM) โดยในการจัดสรรเงินลงทุนจะคำนึงถึงความสอดคล้องและครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายผลประโยชน์ตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ ซึ่งนโยบายการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝาก ธนาคาร เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคงสูงเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 โดยในปี 2561 บริษัทมีผลตอบแทนจากการลงทุนร้อยละ 5.72
​​   ด้านเบี้ยประกันชีวิต
  ปี 2561 ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตได้เป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้รายได้จากเบี้ยประกันชีวิตของบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นปี 2561 มีเบี้ยประกันชีวิตรวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 13,398 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 552 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยแบ่งเป็น

​​   • เบี้ยประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม

​​   ปี 2561 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรมจำนวนเงิน 4,981 ล้านบาท เติบโตลดลงจากปีก่อนจำนวนเงิน 234 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.49

​​   • เบี้ยประกันชีวิตประเภทสามัญ

​​   ปี 2561 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทสามัญจำนวนเงิน 6,456 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวนเงิน 339 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.54

​​   • เบี้ยประกันชีวิตประเภทกลุ่ม

​​   ปี 2561 บริษัทได้รับเบี้ยประกันจากประกันชีวิตประเภทกลุ่มจำนวนเงิน 1,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวนเงิน 452 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.14

​​   • เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล

​​   ปี 2561 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยบริษัทได้รับเบี้ยประกันจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจำนวนเงิน 144 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวนเงิน 5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.36

​​   ด้านเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์

​​   ในปี 2561 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้มอบความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยโดยมีเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ จำนวนเงิน 11,760 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวนเงิน 125 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

 ​

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน

​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงเพื่อรับมือกับความเสียหายที่มิได้คาดหมายจากการดำเนินธุรกิจโดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้บริษัทได้มีการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤตจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่างๆ ประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ

​​   ทั้งนี้สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณมีรายละเอียด ดังนี้

 ​

9. งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและ แสดงความเห็นแล้ว
​​   บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินของประจำปี 2561 ดังนี้ 

 งบการเงินของบริษัทประจำปี 2561

รายปี 2560

1. ประวัติบริษัท นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจ รายละเอียด ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ ช่องทางการติดต่อของบริษัท วิธีการและระยะเวลาที่ใช้เรียกร้อง พิจารณาและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

1.1 ประวัติบริษัท

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492  โดยคุณชิน อัสสกุล และคณะ ตลอดระยะเวลากว่า  69 ปี บริษัทยึดมั่นหลักการดำเนินธุรกิจแบบโปร่งใสด้วยความซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้เกี่ยวข้องตลอดมา รายละเอียดเพิ่มเติม

1.2 นโยบาย วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจ

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจและนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน  มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกันและให้ความมั่นคงแก่ลูกค้าผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 
รายละเอียดเพิ่มเติม

     ในปี พ.ศ. 2560 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งสำคัญ โดยการรุกเข้าสู่สังคมเมืองพร้อมการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่  สู่การขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้พลังความรักสร้างสรรค์ความสุข และมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต ภายใต้แนวคิด “รักคือพลังของชีวิต – LOVE EMPOWERS YOUR LIFE” พร้อมเดินหน้าคิดค้นและลงมือสร้างนวัตกรรมในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้า และมีกลยุทธ์และการดำเนินงานดังนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม

1.3 ลักษณะการประกอบธุรกิจ

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตโดยการนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนที่เหลือบริษัทจะนำไปลงทุนในธุรกิจที่บริษัทมีความรู้และความชำนาญเท่านั้น อาทิ ลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือกองทุนรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศ การให้สินเชื่อเงินกู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกัน รวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยมีรายละเอียดดังนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม

1.4 รายละเอียดลักษณะผลิตภัณฑ์ บริการที่สําคัญของบริษัท และสัดส่วนร้อยละของเบี้ยประกันภัยแยกตามประเภทของการรับประกันภัย

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการให้บริการต่อลูกค้าครบวงจรทั้งในด้านกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสามัญ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุตสาหกรรม กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทกลุ่ม รวมถึงสัญญาเพิ่มเติมกรมธรรม์ ได้แก่ การคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองอุบัติเหตุ การคุ้มครองโรคมะเร็ง ค่าชดเชยรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ การคุ้มครองการทุพพลภาพ การคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น โดยมีสำนักงานสาขาพร้อมให้บริการแก่ลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 171 สาขา และมีสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต 40 แห่ง ในด้านช่องทางการขายกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ บริษัทมีช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตเป็นช่องทางหลัก และได้ขยายช่องทางใหม่ ได้แก่ ช่องทางสถาบันการเงิน และช่องทาง Internet Sale รายละเอียดเพิ่มเติม

1.5 ช่องทางการติดต่อบริษัท และวิธีการเรียกร้องการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต

       เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทมีการกำหนดช่องทางในการติดต่อกับบริษัทไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2207-8888 ติดต่อโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศทั้ง 171 สาขา หรือสำนักงานตัวแทนประกันชีวิต รายละเอียดเพิ่มเติม

       ในการขอรับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินผลประโยชน์ (เงินทรงชีพ เงินสมนาคุณ) เงินครบกำหนดสัญญา เงินค่าสินไหม ลูกค้าสามารถติดต่อรับบริการได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ชั้น G อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 1 
ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2207-8888 หรือสำนักงานสาขาทั้ง 171 สาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ระยะเวลาและเอกสารประกอบการดำเนินการ เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด  รายละเอียดเพิ่มเติม

2. กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงรายละเอียดในการดําเนินการตามกรอบและกระบวนการดังกล่าว

2.1 กรอบการกํากับดูแลกิจการที่ดี และกระบวนการควบคุมภายในของบริษัท

  บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าบริษัททำหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ถือกรมธรรม์และผู้รับผลประโยชน์ของผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทจึงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในจริยธรรมและหลักบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด บริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรมภายใต้กฎเกณฑ์ของหน่วยงานราชการ มีการกำหนดขอบเขต ความรับผิดชอบ และการควบคุมภายในของแต่ละฝ่ายงานอย่างเหมาะสม พัฒนาให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของธุรกิจประกันชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้

   บริษัทให้ความสำคัญกับการมีระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า การดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการดูแลทรัพย์สิน ป้องกันการรั่วไหล การสิ้นเปลือง หรือการทุจริต ลดความผิดพลาดเสียหาย และข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารมีความถูกต้อง เชื่อถือได้  และทันเวลา การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของทางการ และยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจ บริษัทจึงได้ออกนโยบายการควบคุมภายในเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการควบคุมภายใน ดังนี้

นโยบายการควบคุมภายใน

2.2 โครงสร้างองค์กรของบริษัท

     บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรของบริษัทอย่างชัดเจนตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายงาน

2.3 โครงสร้างการจัดการของบริษัท

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการ องค์ประกอบ และจำนวนกรรมการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะ ขนาดของกิจการ ความสามารถของกรรมการในการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยคณะกรรมการมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบโดยสังเขป คือ มีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดําเนินกิจการของบริษัท กํากับดูแลการกําหนดนโยบาย ดูแลให้มีกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีระบบการติดตามตรวจสอบ
ให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กําหนดภายใต้มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง รอบคอบ และหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย

       คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจประกันชีวิต และความรู้ความชำนาญในแขนงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ท่าน รายละเอียดเพิ่มเติม

     นอกจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารรับผิดชอบตามกลยุทธ์และนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และมีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง มีการบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการควบคุมภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจประกันชีวิต  รายละเอียดเพิ่มเติม

2.4 คณะกรรมการชุดย่อย

      นอกจากบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จะมีการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทแล้ว เพื่อให้การดำเนินการของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและกลั่นกรองเรื่องที่สำคัญ โดยคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทประกอบด้วย

       • คณะกรรมการกํากับและตรวจสอบ มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสอบทานการดําเนินงานของบริษัทในการปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สอบทานการดําเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี สอบทานรายงานทางการเงิน สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจําปี สอบทานประสิทธิผลของการตรวจสอบภายในและความพอเพียงของระบบการควบคุมภายใน โดยการหารือและประเมินผลการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีของบริษัท และสอบทานการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้คณะกรรมการกํากับและตรวจสอบมีรายชื่อดังนี้

       1. นางดัยนา บุนนาค                     ประธาน

       2. รศ.จารุพร ไวยนันท์                   กรรมการ

       3. นางวัลลภา อัสสกุล                   กรรมการ

     • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขทบทวนกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ครอบคลุมและรองรับกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และมาตรฐานใหม่ๆ ของภาครัฐ กำกับดูแลให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพผ่านทางเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงโดยให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ ติดตามประเมินผลและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงของบริษัทและวิธีจัดการความเสี่ยง ตลอดจนความคืบหน้าในการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ กลั่นกรองรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีรายชื่อดังนี้

       1. นายกีรติ อัสสกุล                     ประธาน

       2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย            กรรมการ

       3. นายฮิเดะยุคิ โอฮาชิ                    กรรมการ

       4. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์             กรรมการ

       5. นางสาววิไลพร สุวรรณมาลัย          กรรมการ

      • คณะกรรมการลงทุน มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทที่สอดคล้องกับกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุน กำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท และบริหารเงินลงทุนตามกรอบนโยบายการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการลงทุนมีรายชื่อดังนี้

       1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์             ประธาน

       2. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย            กรรมการ

       3. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช         กรรมการ

       4. นายอรุณพร ตันวิวัฒนกุล            กรรมการ

       5. นางศิริจันทร์ พิพิทวิทยากุล           กรรมการ

       6. นางสาวเสาวลักษณ์ ปริญชาญกล     กรรมการ

   • คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กำหนดแนวทางพัฒนาและติดตามประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตําแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้การบริหารของบริษัทมีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนมีรายชื่อดังนี้

       1. ดร.ธีระบูลย์ อินทรกำธรชัย            ประธาน

       2. นายกีรติ อัสสกุล                     กรรมการ

       3. นายสมาน ทิพยไกรศร                 กรรมการ

       4. รศ.จารุพร ไวยนันท์                   กรรมการ

       5. นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา            กรรมการ

       • คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ การจำหน่าย การซื้อ หรือการมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการได้มาหรือเสียไปของอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาอนุมัติการซื้อการขาย รวมถึงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ มีรายชื่อดังนี้

       1. นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์            ประธาน

       2. นายสุรพล อัสสกุล                   กรรมการ

       3. นายประจักษ์ ทิพยุทธ์                 กรรมการ

       4. นางสาวสุวรรณ อุดมเฉลิมเดช         กรรมการ

       5. นางสาวอัคริมา พงศ์พัฒนพาณิชย์    กรรมการ

2.5 การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร

    การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทมีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และผู้สืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ประวัติการทำงานที่ดี มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้บริษัทได้อย่างเพียงพอ อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ยังคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสม และความชำนาญเฉพาะด้านที่จำเป็นให้สอดคล้องกับโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนสอดคล้องกับข้อกำหนดของทางการ โดยมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

2.6 นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน (Remuneration policy)

      การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท บริษัทมีการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์การพิจารณา และกระบวนการที่ชัดเจนโปร่งใส โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ผลการปฏิบัติหน้าที่ ผลประกอบการบริษัท และมีการเทียบเคียงกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าตอบแทนที่บริษัทกำหนดสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน

3. การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM) และการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

3.1 การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management : ERM)

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง และเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทที่สำคัญได้แก่ การกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนในบริษัทที่จะต้องช่วยกันบริหารจัดการความเสี่ยง และการที่ผู้บริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การวิเคราะห์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการที่ใช้ในการลดความเสี่ยง และกำกับดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามกรอบและนโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัท ตลอดจนบริษัทมีการส่งเสริมและพัฒนาพนักงานและผู้บริหารเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการแนวคิดและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

      บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ รวมถึงข้อบังคับใหม่ๆ และจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการกำหนดกรอบและนโยบาย การบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic risk) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational risk) ตลอดจนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้

       นอกจากนี้บริษัทมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และกระบวนการบริหารความเสี่ยง ได้แก่ การระบุ ประเมิน ตอบสนอง ติดตาม และรายงานความเสี่ยง ในส่วนของความเสี่ยงที่มีความสำคัญบริษัทมีการกำหนดดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับความเสี่ยง

3.2 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management : ALM)

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารสินทรัพย์ให้เป็นไปตามกรอบนโยบายการลงทุนและแผนการลงทุน รวมถึงมีการบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด โดยจัดทำ Sensitivity Analysis และ Liquidity Stress Test นอกจากนี้บริษัทมีการติดตาม Duration Gap เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

4. ความเสี่ยงจากการรับประกันภัยที่สามารถคาดการณ์ได้และมีนัยสําคัญอันอาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท การบริหารจัดการประกันภัยต่อ ความเชื่อมโยงของเงินกองทุนและความเสี่ยงภัย และการกระจุกตัวของภัย

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทจึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านการประกันภัย (Insurance Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของความถี่ ความรุนแรงที่เบี่ยงเบนจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันภัย การคำนวณเงินสำรองและการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน รายได้ เงินกองทุน และชื่อเสียงของบริษัท โดยบริษัทมีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมโดยการพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินกองทุน ระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ มีการทดสอบผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนตามเกณฑ์ RBC อย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามการคำนวณเงินสำรองเพื่อให้ถูกต้องและเพียงพอต่อภาระที่บริษัทพึงมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งนี้บริษัทมีการกำหนดมาตรการในการทบทวนความเสี่ยงและแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

      บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อโดยมีการจัดทำกลยุทธ์การบริหารการประกันภัยต่อ เนื่องจากการประกันภัยต่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทใช้ เพื่อกระจายความเสี่ยงไปสู่ฐานเงินทุนที่ใหญ่และมั่นคง ซึ่งช่วยในการบริหารและควบคุมการประกันภัยต่อให้เหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของบริษัท ก่อให้เกิดความมั่นคงและสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัย ทั้งนี้บริษัทยังคงมีภาระความรับผิดชอบหลักของบริษัทประกันภัยต่อที่มีต่อผู้เอาประกันภัย โดยในเนื้อหากลยุทธ์ดังกล่าวได้อธิบายถึงกระบวนการสำคัญ อันประกอบด้วย

    • นโยบายการประกันภัยต่อและการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัยต่อของบริษัท

    • กระบวนการคัดเลือกผู้รับประกันภัยต่อ

    • การกำหนดส่วนเก็บไว้สูงสุด (Maximum Retention Limit) ส่วนเอาประกันภัยต่อ

    • กระบวนการติดตามผลตรวจสอบและการทบทวนการทำประกันภัยต่อ

    • รวมถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการควบคุมและให้มีการปฏิบัติตามกลยุทธ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้บริษัทมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจงานประกันภัยต่อในอนาคตต่อไป

      นอกจากนี้ บริษัทยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ โดยมีการกําหนดขีดจํากัดความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับประกันภัยไว้ได้เอง (Retention Limits) ระดับความเสี่ยงที่จะต้องทําประกันภัยต่อ และระดับความเสี่ยงสูงสุดที่รับได้ (Risk Tolerance) โดยพิจารณาจากจํานวนเงินกองทุนของบริษัทและจำนวนเงินเอาประกันภัยเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์แยกตามสัญญาประกันภัยต่อ ทั้งนี้การส่งประกันภัยต่อจะส่งให้แก่ผู้รับประกันภัยต่อมากกว่าหนึ่งราย เพื่อกระจายความเสี่ยง อีกทั้งบริษัทมีการกำหนดการทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อบังคับของทางการ

     ในส่วนของการกระจุกตัวของความเสี่ยงด้านการรับประกันภัย การกระจุกตัวของความเสี่ยงอาจจะเกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์สืบเนื่องที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อหนี้สินจากสัญญาประกันภัยของบริษัท

5. มูลค่า วิธีการ และสมมติฐานในการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ใช้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV) ซึ่งใช้ข้อสมมติฐานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุกรมธรรม์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กําหนด ส่งผลให้การคํานวณเงินสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวไม่ได้รับผลกระทบจากอัตรามรณะและอัตราการขาดอายุอัตราการเวนคืน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทําการวิเคราะห์ความอ่อนไหวในส่วนของการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินจากสัญญาประกันภัยระยะยาวตามเกณฑ์การคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยรวม (Gross Premium Valuation) ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยเงินสํารองที่คํานวณตาม NPV ยังคงมากกว่า GPV ทําให้บริษัทยังคงคํานวณเงินสํารองประกันภัยแบบเบี้ยประกันภัยสุทธิ (NPV)

      ทั้งนี้บริษัทกําหนดมูลค่าของสํารองประกันภัยสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว โดยใช้อัตรามรณะตามตารางมรณะไทยปี 2560 สําหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ถูกออกแบบและเสนอแก่สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

6. การลงทุนของบริษัท 

    บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการรับประกันภัยไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้การบริหารความเสี่ยงระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย โดยการลงทุนจะต้องผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการบริหารการลงทุน

   บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่ใช้ในการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปและบริษัทได้มีการเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

       สำหรับรายงานการดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง บริษัทใช้สมมติฐานและวิธีประเมินเป็นไปตามประกาศคปภ. เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2554

7. ผลการดําเนินงานของบริษัทประกันภัย รวมถึงผลการวิเคราะห์และอัตราส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

      บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มุ่งดําเนินธุรกิจประกันชีวิต โดยใช้ความรักเป็นพลังในการสร้างสรรค์ความสําเร็จ ตลอดจนยึดถือในจรรยาบรรณธุรกิจอย่างเคร่งครัด และยึดมั่นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนไทยด้วยความรักความห่วงใย หวังให้ทุกคนทุกครอบครัวมีหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต และการวางแผนทางการเงินที่ดีสําหรับอนาคต ในขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ และใช้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทรัพยากรอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อรองรับการเติบโตและการให้บริการอย่างเหนือความคาดหมาย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที และทันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

       โดยผลการดำเนินการในรอบปี 2560 ในด้านต่างๆ วิเคราะห์ได้ดังนี้

ด้านสินทรัพย์

       ในปี 2560 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) มีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ จํานวนเงินทั้งสิ้น 93,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 2,315 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.54 แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการเงิน และความแข็งแกร่งมั่นคงของบริษัทได้เป็นอย่างดี

ด้านเงินสํารองประกันชีวิต

       ณ สิ้นปี 2560 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ได้จัดสรรเงินสํารองประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยไว้สําหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกําหนด ซึ่งมีผลผูกพันไว้กับสํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์ในอนาคตตามสัญญากรมธรรม์ที่ได้ทําไว้กับลูกค้า โดยมีเงินสํารองประกันชีวิตรวมสัญญาระยะยาวและสัญญาระยะสั้นเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 74,961 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวน 1,591 ล้านบาท

ด้านการลงทุนของบริษัท

   ในด้านนโยบายการลงทุนของบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ยังคงเน้นการนํารายได้จากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากผู้ถือกรมธรรม์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยมีรายได้ที่แน่นอน ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และสอดคล้องกับกรมธรรม์ที่บริษัทเสนอขาย เน้นให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการในเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท (Asset Liabilities Management : ALM) ในการจัดสรรเงินลงทุนจะคํานึงถึงความสอดคล้องและครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายผลประโยชน์ตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ นโยบายการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องการควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม การจัดสรรการลงทุนจะกระจายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น โดยสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เงินฝากธนาคาร เงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่งคง ซึ่งเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80

ด้านเบี้ยประกันชีวิต

       ปี 2560 ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวในทิศทางบวก ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับปัจจัยสนับสนุนในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน การขยายตัวของการลงทุน รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ ทําให้รายได้จากเบี้ยประกันชีวิตของบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ณ สิ้นปี 2560 มีเบี้ยประกันชีวิตรวมก่อนประกันภัยต่อจํานวนเงินทั้งสิ้น 12,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจํานวนเงิน 135 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06

ด้านเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์

       ในปี 2560 บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ได้ มอบความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แก่ลูกค้าผู้เอาประกันชีวิต โดยมีเงินจ่ายคืนให้ผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์จํานวนเงิน 11,612 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจํานวนเงิน 801 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.45

​​

 

8. ความเพียงพอของเงินกองทุน

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกัน โดยพิจารณาสินทรัพย์ทางการเงินที่จะลงทุนที่อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้ยังมีการประเมินและติดตามความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่เสมอและมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

9. งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและ แสดงความเห็นแล้ว

       บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยบริษัทมีงบการเงินของประจำปี 2560 ดังนี้

 งบการเงินของบริษัทประจำปี 2560

บอกข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับตัวคุณ
เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

ฉันต้องการค้นหาเกี่ยวกับ