“ไวรัสตับอักเสบ” หนึ่งในภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม เพราะเป็นโรคที่อาจไม่แสดงอาการ แต่สามารถทำลายสุขภาพได้อย่างรุนแรงโดยไม่รู้ตัว สำหรับค่ารักษาโรคไวรัสตับอักเสบนั้น หลาย ๆ คนมองว่าคงไม่ได้สูงมากนัก เพราะเป็นการรักษาตามอาการ โดยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งก็เป็นความคิดที่ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิด มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมาก และหากเป็นรุนแรงมาก ก็อาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกด้วย แต่จะเป็นชนิดใดนั้น ติดตามได้ที่บทความนี้เลย
ชนิดของไวรัสตับอักเสบ และการติดต่อ
1. ไวรัสตับอักเสบ A
เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Picornavirus ทำให้ตับอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรงมาก แต่โดยทั่วไปอาการจะหายเป็นปกติภายใน 2 เดือน ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A ไปแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต และจะไม่เป็นโรคนี้ซ้ำอีก
การติดต่อ : ติดต่อทางอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงจนสุกด้วย
2. ไวรัสตับอักเสบ B
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบ B แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง สำหรับไวรัสตับอักเสบ B แบบเฉียบพลันนั้น ไม่ว่าจะเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม มักมีอาการชัดเจน และสามารถหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากไม่สามารถหายเองได้ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ มุ่งลดการอักเสบของตับ จนร่างกายแข็งแรง และหายขาดได้ในที่สุด
แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเริ่มมีการอักเสบในตับมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจไม่ปรากฏอาการชัดเจน ถ้าตลอดชีวิตของผู้ป่วยไม่เคยตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ผู้ป่วยอาจไม่ทราบเลยก็ได้ว่าตัวเองติดเชื้อ จนปล่อยให้กลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ B แบบเรื้อรัง ซึ่งอาจพัฒนาเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับในที่สุด
การติดต่อ : การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน และติดต่อทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักในร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
3. ไวรัสตับอักเสบ C
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ จึงทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
การติดต่อ : มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน และติดต่อทางเลือด
4. ไวรัสตับอักเสบ D
เป็นเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA Virus) ที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีการติดเชื้อในสัตว์ มักทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน
การติดต่อ : ไวรัสตับอักเสบ D เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์เพราะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยโปรตีนของไวรัสตับอักเสบ ในการเข้าสู่เซลล์ตับ ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D จึงเกิดเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B เท่านั้น
5. ไวรัสตับอักเสบ E
เป็นเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA Virus) เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ D ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการใด ๆ เลย อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์อาจมีภาวะตับวาย ที่เกิดจากตับอักเสบแบบเฉียบพลันรุนแรงจากไวรัสตับอักเสบ E ได้
การติดต่อ : ติดต่อผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
อาการของไวรัสตับอักเสบ
อาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดจะคล้าย ๆ กัน ดังนี้
- เป็นไข้ อ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด
- คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
- จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน
- ปวดข้อ
- อุจจาระสีซีด โดยพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D และ E
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ A และ B แล้ว สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ A ต้องฉีด 2 เข็ม ส่วนไวรัสตับอักเสบ B ต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B แล้ว ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D ด้วย เพราะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D นั้น เกิดเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B เท่านั้น
ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบ C นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ส่วนไวรัสตับอักเสบ E มีวัคซีนป้องกันแล้ว ชื่อว่า HEV 239 แต่ยังไม่แพร่หลายนัก
ทำไมควรซื้อประกันสุขภาพ ก่อนเป็นไวรัสตับอักเสบ
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน แต่หากมีอาการอ่อนเพลียมาก และคลื่นไส้จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือเริ่มมีอาการรุนแรงอื่น ๆ เช่น ภาวะตับวายในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ E เป็นต้น แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายมากมาย เช่น ค่าห้องพัก ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาสำหรับกลับบ้าน นอกจากนั้น ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ค่ายาอาจสูงถึง 10,000-40,000 บาทเลยทีเดียว แต่หากผู้ป่วยมีประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
นอกจากนั้น หากเคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบมาแล้ว บริษัทประกันอาจสงวนสิทธิ์การพิจารณาไม่รับประกันภัย เนื่องจากผู้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้สูงกว่าคนอื่น ๆ
ดังนั้น หากผลตรวจสุขภาพยังปกติดี ไม่มีไวรัสตับอักเสบมากวนใจ OCEAN LIFE ไทยสมุทรประกันชีวิต ขอแนะนำให้ทำประกันสุขภาพติดตัวไว้ เพราะหากเป็นโรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรงขึ้นมา นอกจากจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลเองแล้ว อาจไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้อีกเลย ส่งผลให้เมื่อเป็นโรคอื่น ๆ ในอนาคต ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของทุกโรค และในทุกครั้งที่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยตัวเอง
ทำประกันสุขภาพโอเชี่ยนไลฟ์ เอ็นจอย เฮลท์ เอ็กซ์ตร้า คลิก
ข้อควรทราบ :
- โอเชี่ยนไลฟ์ เอ็นจอย เฮลท์ เอ็กซ์ตร้า เป็นชื่อทางการตลาดของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพเอ็นจอย เฮลท์ เอ็กซ์ตร้า (Enjoy Health Extra)
- สัญญาเพิ่มเติม/บันทึกสลักหลังมีระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี ผู้เอาประกันภัยอาจขอต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม/บันทึกสลักหลังได้ ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับปีต่ออายุ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเบี้ยประกันภัย หรือให้ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ขึ้นอยู่กับอายุ ชั้นอาชีพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
- ค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) หมายถึง ความรับผิดระหว่างบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัยที่ต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อันจะพึงจ่ายตามจำนวนเงินผลประโยชน์ภายหลังหักจำนวนความรับผิดส่วนแรก (ถ้ามี)
- การรับประกันภัยเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด
- ความคุ้มครองและการจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
- ข้อมูลในเอกสารนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผู้ขอเอาประกันภัย/ผู้เอาประกันภัยควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครอง ผลประโยชน์ และข้อยกเว้น ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้วโปรดศึกษาเพิ่มเติม