ยื่นภาษีครึ่งปี 2566 (ภ.ง.ด. 94) คืออะไร ยื่นได้ถึงเมื่อไร และใครต้องยื่น

ยื่นภาษีครึ่งปี

 

ในช่วงเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ต.ค. สิ่งที่ผู้ทำอาชีพอิสระจำเป็นต้องทำคือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือภ.ง.ด. 94 ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องที่ผู้มีเงินได้จากอาชีพอิสระจำเป็นต้องรู้ ได้แก่ กำหนดการยื่นภาษีครึ่งปี ประจำปี 2566 และเงื่อนไข รวมถึงเกณฑ์การลดหย่อนต่าง ๆ

 

ยื่นภาษีครึ่งปี 2566 (ภ.ง.ด. 94) คืออะไร

คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี  สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน มิ.ย. 2566 ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นหรือไม่ก็ตาม โดยการยื่นภาษีครึ่งปี 2566 นั้น เป็นการ ชำระภาษีไว้ล่วงหน้า ช่วยให้ผู้มีเงินได้ สามารถคาดการณ์จำนวนเงินได้ตลอดปีภาษีของตน จากเงินได้ในครึ่งปีแรกของตน เพื่อประเมินและวางแผนลดหย่อนภาษีก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 อีกครั้ง  หากไม่มีการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 อาจจะทำให้ผู้มีเงินได้ ไม่ได้เตรียมตัววางแผนทำให้ต้องชำระภาษีในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 เป็นเงินจำนวนมาก ทำให้เป็นภาระสำหรับผู้มีเงินได้

 

ยื่นภาษีครึ่งปี 2566 (ภ.ง.ด. 94) ยื่นได้ถึงเมื่อไร

ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. 2566 แต่ยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตได้ถึง 9 ต.ค. 2566

 

ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี 2566

  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 หรือ 40(5) หมายถึง เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน  นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเงินหรือประโยชน์ที่ได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนที่ผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้วอีกด้วย
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 6 หรือ 40(6) หมายถึง เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 7 หรือ 40(7) หมายถึง เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน จัดหาวัสดุส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทาสี เป็นต้น
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ 40(8) หมายถึง เงินได้จากการพาณิชย์ หรือเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา40(1)-(7)เช่น รางวัลจากการชิงโชค รายได้จากการขายของชำ การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายของออนไลน์ เบี้ยยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นต้น

โดยผู้ที่มีเงินได้ 4 ประเภทดังกล่าวจะต้องมีเงินได้พึงประเมินตามจำนวนดังต่อไปนี้ จึงจะมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปี 2566 (ภ.ง.ด. 94)

ผู้มีเงินได้ จำนวนเงินได้พึงประเมิน ผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94
1. ผู้ที่เป็นโสด เกิน 60,000 บาท ผู้มีเงินได้
2. ผู้ที่มีคู่สมรส ที่มีเงินได้ฝ่ายเดียว
หรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน
เกิน 120,000 บาท ผู้มีเงินได้
3. กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง เกิน 60,000 บาท

ผู้จัดการมรดก / ทายาท / ผู้ครอบครองทรัพย์มรดก

4. ห้างหุ้นส่วนสามัญ เกิน 60,000 บาท ผู้จัดการ / ผู้อำนวยการของห้างหุ้นส่วนสามัญ
5. คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เกิน 60,000 บาท ผู้จัดการของคณะบุคคล

 

สิทธิลดหย่อนและยกเว้นภาษี สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว

หักลดหย่อนได้ จำนวน 30,000 บาท สำหรับกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนได้ จำนวน 30,000 บาท หากอยู่ในประเทศไทยเพียงคนเดียว หรือ 60,000 บาท หากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 

หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 

  1. กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
  2. กรณีคู่สมรสมีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8) 
    2.1 กรณีรวมคำนวณผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนส่วนตัวได้ จำนวน 30,000 บาท และหักลดหย่อนสามี/ภรรยาของผู้มีเงินได้ จำนวน 30,000 บาท
    2.2 กรณีแยกยื่น ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนส่วนตัวได้ จำนวน 30,000 บาท 
  3. กรณีคู่สมรสมีเงินได้ เฉพาะตามมาตรา 40(1)-(4) หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท 
  4. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (รวมกันถึง 180 วันในปีภาษี) หักลดหย่อนคู่สมรสได้ ไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรือไม่ 
  5. ส่วนกรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (รวมกันไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) หักลดหย่อนได้เฉพาะคู่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
  • ค่าลดหย่อนบุตร

หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา ดังนี้

  1. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของผู้มีเงินได้/สามีหรือภรรยาของผู้มีเงินได้ 
    1.1 หักลดหย่อนได้ คนละ 15,000 บาท
    1.2 สำหรับคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดใน/หลังปี พ.ศ.2561 หักลดหย่อนเพิ่มอีก เป็นคนละ30,000 บาท
  2. บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท รวมไม่เกิน 3 คน 
  3. กรณีมีทั้งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมาหักก่อน 
    3.1 หากมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนครบ 3 คนแล้ว จะหักบุตรบุญธรรมอีกไม่ได้ 
    3.2 หากบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องไม่เกิน 3 คน
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา 

หักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท โดยบิดามารดา ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากเป็นบุตรบุญธรรม ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดา

  • ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม 

หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายไปจริง ในระหว่างเดือนม.ค. ถึง มิ.ย.ของปีภาษี โดยส่วนที่จ่ายไปไม่เกิน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

  • ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม สำหรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของปีภาษี

  • ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต

สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายในระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของปีภาษี นำมาหักลดหย่อนได้ โดยส่วนที่จ่ายไปไม่เกิน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท ให้หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 90,000 บาท

  • ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันบำนาญ

หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

  • ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ 

หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายในเดือน ม.ค.-มิ.ย.

  • ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ 

หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของตนเองและบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้

  • ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกิน 60,000 บาท หากจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับสิทธิตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 

หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 

หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 

หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุด 13,200 บาท

  • การบริจาคให้ศาสนสถาน และองค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ 

หักลดหย่อนได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้บริจาคจริงแต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอย่างอื่น และเงินบริจาค สนับสนุนการศึกษาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

  • การบริจาคให้สถานศึกษาและสถานพยาบาลของราชการ 

หักลดหย่อนได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่าย

  • การบริจาคให้พรรคการเมือง 

หักลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 10,000 บาท

แม้ว่าจะยื่นภาษีครึ่งปี 2566 ภ.ง.ด. 94 แล้ว เมื่อถึงปลายปีจะต้องคำนวณภาษีเงินได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงธ.ค. และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 อีกครั้ง โดยสามารถนำยอดภาษีที่ได้ชำระแล้วตามแบบ ภ.ง.ด.94 มาหักออกได้

เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ด้วยประกันลดหย่อนภาษี โอเชี่ยนไลฟ์ ออมสบาย 10/5 >>คลิก<< 

  • เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำไปอ้างอิงลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท
  • รวมผลประโยชน์ตลอดสัญญาสูง 560%

ข้อควรทราบ : 

  • % หมายถึง เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
  • การรับประกันภัยเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯกำหนด
  • ความคุ้มครองและการจ่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์
  • เบี้ยประกันชีวิต สามารถนำไปอ้างอิงลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด 
  • ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะนำเบี้ยประกันชีวิตไปอ้างอิงลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องแจ้งความประสงค์และยินยอมให้บริษัทฯนำส่งข้อมูลเบี้ยประกันชีวิตให้กรมสรรพากร 
  • การนำส่งเบี้ยประกันภัยเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยการที่ตัวแทนประกันชีวิตมาเก็บเบี้ยประกันภัยเป็นการให้บริการเท่านั้น
  • ข้อมูลในเอกสารนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผู้ขอเอาประกันภัย/ผู้เอาประกันภัยควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครอง ผลประโยชน์และข้อยกเว้น ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้วโปรดศึกษาเพิ่มเติม

อ้างอิง :

https://www.rd.go.th/61549.html
https://www.rd.go.th/38763.html
https://www.rd.go.th/558.html
https://www.rd.go.th/62777.html
https://www.nsf.or.th/

สิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้อง

OCEAN CLUB APP ใช้ชีวิตดี๊ดี กับ OCHI COIN

OCEAN CLUB APP ใช้ชีวิตดี๊ดี กับ OCHI COIN

ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เข้าถึงสิทธิประโยชน์ และกิจกรรมมากมาย
สะดวก รวดเร็ว พร้อม ช้อป ชิม ชิล ไปกับ OCHI COIN

QR Code Application
ดาวน์โหลดเลย
OCEAN CLUB APP

บอกข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับตัวคุณ
เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

I want to search about